แม้แต่โลกของพ่อมดแม่มดก็มีสำนวน และคำสแลง (ไม่ใช่ แสลง) ติดปาก สำนวนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่าง “เมอร์ลินเป็นพยาน” และอีกมากมาย บทความนี้ Muggle-V จะรวบรวมสำนวนเด็ดๆ น่าสนใจจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้เหล่าพอตเตอร์เฮด และผู้ชื่นชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้เอาไปใช้กันสนุกๆ ^ ^ ซึ่งสำนวนเหล่านี้ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ใช้การปรับเปลี่ยนสำนวนเดิมของมักเกิ้ลเล็กน้อย อย่างการเปลี่ยนจาก ม้า เป็น ฮิปโปกริฟฟ์ เป็นต้น แต่ก็มีบางสำนวนที่เกิดขึ้นใหม่เหมือนกันครับ
ทีนี้มาทำความรู้จักกับ “สำนวน” และ “สแลง” กันก่อนเนอะ โดยอ้างอิงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
“สแลง (Slang)” หมายถึง น. ถ้อยคําหรือสํานวนที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มหรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง. (อ. slang).
“สำนวน (Idioms)” หมายถึง น. ถ้อยคําที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สํานวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สํานวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สํานวน โวหารลุ่ม ๆ ดอน ๆ
มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
“ปล่อยแมวไว้กับตัวพิกซี่ (Cat among the pixies)”
เป็นสำนวนที่มีความหมายเหมือน “ปล่อยแมวไว้กับนกพิราบ (cat among the pigeons)” ของมักเกิ้ล มีความหมายถึงการกระทำที่ผิดพลาดแล้วทำให้เกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย หรือทำให้โกรธแบบสุดเหวี่ยง ปรากฏใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.2 น.42
มิสซิสฟิก: “ดัมเบิลดอร์น่ะบอกว่าเราต้องป้องกันเธอไม่ให้ต้องใช้เวทมนตร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น… เอาเถอะ ฉันว่านะ ถึงจะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาร้องไห้กับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่นี่มันเข้าตำราปล่อยแมวไว้กับตัวพิกซี่แท้ๆ เลยนะ”
จากประโยคนี้ เป็นประโยคที่มิสซิสฟิกกล่าวถึงมันดังกัสว่าไม่เอาไหน การให้มันดังกัสมาคอยเฝ้าระวังแฮร์รี่น่ะเป็นเรื่องผิดพลาด ทำให้วุ่นวายไปหมด เพราะอีตานี่น่ะงี่เง่าไม่เอาไหนสุดๆ เข้าตำราปล่อยแมวไว้กับตัวพิกซี่ นั่นเองครับ
“อย่าเพิ่งนับนกฮูกของเธอจนกว่ามันจะมาส่ง (Don’t count your owls before they are delivered)”
มีความหมายเดียวกับสำนวน “อย่าเพิ่งนับจำนวนไก่ถ้ายังไม่เห็นมันฟักออกมา (Don’t count your chickens before they hatch)” ของมักเกิ้ล คือการด่วนทำอะไรลงไปล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่รู้แน่เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า เหมือนเป็นการลงแรงไปเปล่าๆ โดยไม่รู้ว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร มีความหมายเหมือนกับสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้” มาจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม บ.4 น.92 กล่าวว่า
แฮร์รี่ พอตเตอร์: “แบบนี้ก็หมายความว่าตั้งแต่นี้ผมจะไม่ต้องเจอศาสตราจารย์สเนปบ่อยนัก เพราะเขาคงไม่ยอมให้ผมเรียนวิชาปรุงยาต่อแล้ว ยกเว้นแต่ผมจะได้คะแนน ‘ดีเยี่ยม’ ในการสอบ ว.พ.ร.ส. ซึ่งผมรู้ว่าไม่มีทาง”
ดัมเบิลดอร์: “อย่าเพิ่งนับนกฮูกของเธอจนกว่ามันจะมาส่ง ซึ่ง ขอคิดหน่อยซิ น่าจะมาถึงสายๆ วันนี้ละ…”
จากประโยคนี้ ดัมเบิลดอร์พยายามเตือนแฮร์รี่ว่า อย่าพึ่งรีบตัดสินเรื่องนั้น เพราะคะแนนสอบยังไม่มาถึงเลย ให้มาถึงก่อนแล้วค่อยเป็นกังวลหรือหาวิธีจัดการมันก็ยังไม่สาย คิดตอนนี้ก็เปล่าประโยชน์
“ตกลงมาจากไม้กวาดน่ะ (Fell off the back of a broom)”
เป็นสำนวนที่มีความหมายถึง การได้มาอย่างผิดกฎหมาย การขโมยมา มีความหมายเหมือนสำนวน “ตกมาจากหลังรถบรรทุกน่ะ (fell off the back of a lorry)” ซึ่งพบสำนวนนี้ได้ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.2 น.37
มิสซิสฟิก: “เขาไป… ไปเจอใครคนหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับหม้อใหญ่ที่ตกมาจากไม้กวาดน่ะ”
จากประโยค อาราเบลล่า ฟิก หมายถึงมันดังกัส เฟล็ทเชอร์ ที่ละทิ้งหน้าที่เพราะต้องไปเอาหม้อใหญ่จากใครคนหนึ่งที่ขโมยมาขายให้เขา
“ไฟยังติดอยู่ แต่หม้อนั้นว่างเปล่า (The fire’s lit, but the cauldron’s empty)”
มีความหมายตรงกับสำนวนมักเกิ้ลที่ว่า “ไฟเปิดไว้สว่าง แต่ไม่ยักมีใครอยู่บ้าน (the lights are on, but nobody’s home)” ซึ่งคล้ายสำนวนไทยที่ว่า “ท่าดีทีเหลว” คือ ท่าทางก็ใช้ได้อยู่หรอก แต่เอาเข้าจริงไม่ได้เรื่องสักนิด หรือใช้ในกรณีที่เห็นว่าคนนี้ดูโง่จัง ประโยคด่าที่ฟังไม่เจ็บแสบแต่จี๊ดเลยครับ หรือใช้ในกรณีที่เราขอความเห็นแล้วเขาไม่ตอบสนอง เพราะเขากำลังคิดอย่างอื่นอยู่ ไม่ได้สนใจเราเลย ลองนึกภาพคนที่ตั้งหม้อใหญ่ไว้แต่ไม่ใส่อะไรลงไปในหม้อ ปล่อยให้ไฟเผาหม้อไปเปล่าๆ หรือแบบมักเกิ้ลก็ เปิดไฟบ้านทิ้งไว้ ทั้งที่ไม่มีคนอยู่บ้าน เปิดให้เสียค่าไฟไปซะงั้น ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.18 น.328
ไอวอร์ ดิลลันสบี้: “น่าเสียดายที่ความฉลาดล้ำของบาธิลดาได้หม่นหมองลงไปแล้ว หลังจากฉายแววรุ่งโรจน์ในช่วงต้นของชีวิต ‘ไฟยังติดอยู่ แต่หม้อนั้นว่างเปล่า’ “
เป็นประโชคที่ไอวอร์กล่าวถึงบาธิลดา บอกว่าเธอนั้นแก่เลอะเลือนไปหมดละ ไม่ได้เก่งอย่างที่เคยเก่งแล้ว
“ปีศาจเป็นพยาน! (gulping gargoyles!) ตัวประหลาดตะลุย! (Galloping gargoyles!) และให้ตาย (Gallopin’ Gorgons)”
เป็นสำนวนที่ใช้แสดงอาการโกรธ ตกใจ หรือตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า
แฮร์รี่ พอตเตอร์: “หมายความว่าอะไรฮะ เขาคอยนกฮูกของผม”
รูเบอัส แฮกริด: “ให้ตายซิ ลืมไปเลย”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.4 น.69)
ลูโด แบ็กแมน: “ทำไมคุณไม่ไปดูการแข่งขัน เอลฟ์ของคุณจองที่ไว้ให้ด้วย… ปีศาจเป็นพยาน! เกิดอะไรขึ้นกับมัน”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.9 น.158)
คอร์นีเลียส ฟัดจ์: “มานี่เถอะแม่หนู เงยหน้าขึ้น ไม่ต้องอาย มาฟังกันหน่อยว่าเธอมีอะไรจะ — ตัวประหลาดตะลุย!”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.27 น.739)
ศาสตราจารย์ท้อฟตี้: “ตัวประหลาดตะลุย! ไม่ได้เตือนก่อนเลย! พฤติกรรมชั่วช้า!”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.31 น.869)
เป็นการอุทานเมื่อศาสตราจารย์ท้อฟตี้เห็นศาสตราจารย์มักกอนนากัลถูกทำร้ายด้วยคาถาสะกดนิ่งไม่ต่ำกว่าสี่ลำพุ่งเข้าใส่อย่างจัง จากคนของอัมบริดจ์ที่ส่งมาควบคุมตัวแฮกริด
“ลงจากหลังฮิปโปกริฟฟ์ได้แล้ว (Get off his high hippogriff)”
เป็นการเล่นสำนวนจากสำนวนมักเกิ้ลที่ว่า “ลงจากหลังม้าได้แล้ว (Get off his high horse)” มีความหมายถึงการเลิกทำตัวเหนือกว่าคนอื่น ให้อ่อนน้อมถ่อมตน หรือเลิกหยิ่งผยอง หรืออวดดีได้แล้ว ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.2 น.33
ริต้า สกีตเตอร์: “คุณรู้ไหม เขาเหยียบนิ้วหัวแม่เท้าคนใหญ่คนโตตั้งเยอะแยะ แต่ตาแก่ด๊อดจี้โดจนั่นน่ะลงจากหลังฮิปโปกริฟฟ์ได้แล้ว เลิกทำฉลาดกว่าคนอื่นเสียที”
จากประโยคนี้ เป็นการใช้สำนวนเพื่อบอกว่า ริต้านั้นมีแหล่งข้อมูลชั้นดีมากมาย เอลฟายอัส โดจ ควรเลิกคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุดได้แล้ว มีคนอีกเพียบที่รู้เรื่องของดัมเบิลดอร์ดีกว่าเยอะ
“ต้องโทษฐานเลี้ยงมังกรเป็นๆ ดีกว่าแค่ฟักไข่มังกร (Might as well be hanged for a dragon as an egg)”
ตรงกับสำนวนมักเกิ้ลที่ว่า “ถูกแขวนคอเพราะมีแกะเป็นๆ ดีกว่าแค่มีเนื้อแกะในครอบครอง (Might as well be hanged for a sheep as a lamb)” อ้างอิงจากกฎหมายในอดีต การขโมยมีโทษถึงประหารชีวิต แม้จะเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นการขโมยก็โดนประหารหมด ไหนๆ ก็ตายอยู่แล้ว ขโมยทั้งทีขโมยให้คุ้มที่จะต้องตายหน่อย สำหรับตัวอย่างปัจจุบันเช่น ไหนๆ วันนี้ก็ไปทำงานสายอยู่แล้ว งั้นฉันไปเที่ยวด้วยเลยดีกว่า เพราะมาสายก็โดนหักเงินเท่ากันอยู่ดี เป็นต้น มีความหมายคลึงกับสำนวนไทย “ตกกระไดพลอยโจน” คือ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วต้องรับผลกระทบไม่ดีกับตัว ความผิดพลาดคือการตกกระได ก็เลยกระโจนตามไปเลยดีกว่าฝืนไว้ก็เจ็บ ไม่ฝืนก็เจ็บ สำนวนนี้ปราฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.2 น.39
มิสซิสฟิก: “ไม่ต้องไปสนกฎหมายปกปิดความลับอะไรนั่นตอนนี้หรอก ไหนๆ ก็ต้องชดใช้โทษบ้าบอคอแตกอยู่แล้ว ถูกลงโทษทั้งที ให้ต้องโทษฐานเลี้ยงมังกรเป็นๆ ดีกว่าแค่ฟักไข่มังกร จริงไหม”
จากประโยคมิสซิสฟิกต้องการบอกกับแฮร์รี่ว่า ไหนๆ ก็โดนลงโทษเรื่องเสกคาถาในถิ่นมักเกิ้ลทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่แล้ว ถ้าจะเสกอีกรอบเพื่อป้องกันตัวเองก็ไม่เป็นไรหรอก ยังไงก็โดนโทษเท่าเดิม เอาไม้กายสิทธิ์ออกมาป้องกันตัวดีกว่า
“หยุดฮิปโปกริฟฟ์ของเธอไว้ก่อน (Hold yer (your) hippogriffs)”
ตรงกับสำนวนของมักเกิ้ลว่า “จับม้าคุณไว้ (hold your horses)” มีความหมายว่า เดี๋ยวก่อน รอก่อน อย่าพึ่งซิ ทำนองนั้นครับ ถ้าให้เห็นภาพง่ายๆ คือ การคล้องบังเหียนม้าแล้วดึงไว้ เพื่อไม่ให้มันตะบึงออกไปครับ แต่เจ.เค.โรว์ลิ่งทำให้รู้สึกเร็วกว่า เพราะฮิปโปกริฟฟ์บินได้ และเร็วด้วย สำนวนพ่อมดจึงหมายความว่า อย่าพึ่งบินไป ฟังก่อน ซึ่งปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.20 น.526
แฮกริด: “เดี๋ยวๆ หยุดฮิปโปกริฟฟ์ของเธอไว้ก่อน ฉันยังเล่าไม่จบเลย!”
จากประโยคนี้ อาจารย์สุมาลีตัดสินใจเพิ่ม “เดี๋ยวๆ” ไว้หน้าประโยค เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่ใส่ คนอ่านอาจเกิดสงสัยว่า สามสหายขี่ฮิปโปกริฟฟ์ตอนไหน หรือพูดถึงฮิปโปกริฟฟ์ก่อนหน้านี้ตรงไหนนะ ไม่มีนี่! ซึ่งในเหตุการณ์นี้ แฮกริดอยากให้แฮร์รี่ รอน และเฮอรไมโอนี่ฟังเรื่องที่เขายังเล่าไม่หมดก่อน เพราะเกิดเพลิดเพลินอยากเล่าวีรกรรมที่ไปพบพวกยักษ์มาซะงั้น
“ฉันจะใช้ม้าแคระของคาโดแกน (I’ll take Cadogan’s pony)”
มีความหมายว่า ฉันจะกอบกู้ชัยชนะคืนจากความอัปยศ จะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จะเอาชนะมันมาให้จงได้ เป็นสำนวนจากบทความ เซอร์คาโดแกน ใน Pottermore ที่เซอร์คาโดแกนปราบมังกรไวเวิร์นแห่งวายได้สำเร็จ ด้วยการควบม้าแคระเข้าหามังกรแล้วระเบิดมันจนเป็นจุณ
“ฉันกินฮิปโปกริฟฟ์ได้ทั้งตัวแล้วนะ (I’m so hungry I could eat a hippogriff)”
ตรงกับสำนวนมักเกิ้ลที่ว่า “ฉันหิวมากๆ หิวจนกินม้าได้ทั้งตัวแล้วนะ (I’m so hungry I could eat a horse)” ซึ่งความหมายก็ตรงๆ ว่า หิวไม่ไหวแล้ว หิวตาลาย หิวแทบคลั่งนั่นเองครับ ถ้าจะให้ใหญ่กว่านี้ก็ ฉันกินโทรลล์ได้ทั้งตัวแล้วนะ! ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.12 น.205
รอน วีสลีย์: “โธ่เอ๊ย เร็วๆ หน่อยสิ ฉันกินฮิปโปกริฟฟ์ได้ทั้งตัวแล้วนะ”
“ไม่มีประโยชน์ที่จะมาร้องไห้กับน้ำยาที่หกไปแล้ว (It’s no good crying over spilt potion)”
ตรงกับสำนวน “ไม่มีประโยชน์ที่จะร้องไห้กับนมที่มันหกไปแล้ว (It’s no good crying over spilt milk)” ของมักเกิ้ล มีความหมายว่า การร้องไห้กับสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว หรือเกิดขึ้นไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไรเลย (พ่อมดโชคดีกว่ามักเกิ้ลก็ตรงที่ แค่หยุดร้องแล้วเสกให้ของที่เสียหายกลับคืนสภาพเดิมก็จบ) ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.2 น.42
มิสซิสฟิก: “ดัมเบิลดอร์น่ะบอกว่าเราต้องป้องกันเธอไม่ให้ต้องใช้เวทมนตร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น… เอาเถอะ ฉันว่านะ ถึงจะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาร้องไห้กับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่นี่มันเข้าตำราปล่อยแมวไว้กับพิกซี่แท้ๆ เลยนะ…”
ในหนังสือผู้แปลตัดสินใจใช้ความหมายจริงของสำนวนนี้ โดยไม่แปลตรงๆ ว่า “ไม่มีประโยชน์ที่จะมาร้องไห้กับน้ำยาที่หกไปแล้ว” ซึ่งประโยคทั้งแบบกล่าวถึงการป้องกันที่ไม่เป็นผล สุดท้ายแฮร์รี่ก็เสกคาถาจนได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้วทำไงได้ ยอมรับว่ามันเกิดแล้วเผชิญหน้ากันต่อไป
“ในนามของเมอร์ลิน (In the name of Merlin)”
เป็นสำนวนที่ใช้ในการแสดงออกถึงความฉงนสงสัย ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.17 น.443
รอน วีสลีย์: “ในนามของเมอร์ลิน เกิดอะไรขึ้นนี่”
จากประโยคนี้ รอนกล่าวขึ้นมาด้วยความตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรทำให้เนวิลล์ตัดสินใจพุ่งตรงไปหาเดรโกเพื่อทำเล่นงานได้ขนาดนั้น แล้วสุดท้ายลงเอยด้วยการที่แฮร์รี่ รอน และเนวิลล์ โดนสเนปหักคะแนน
“ต่อให้มีไม้กวาดยาวสิบฟุตอยู่ในมือ ผมก็ไม่มีวันเข้าใกล้คุณ (I wouldn’t come near you with a ten-foot broomstick)”
สำนวนนี้มีความหมายเหมือน “ten foot pole” ของมักเกิ้ล คือ ฉันไม่อยากแม้แต่จะแตะต้องเขาด้วยไม้ยาวถึงสิบฟุต ในที่นี้ให้เอาไม้กวาดยาวสิบฟุตแตะริต้า แฮร์รี่ยังขยะแขยงเลย ซึ่งใช้ได้กับทั้งสิ่งที่ไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบ หรือสถานการณ์บางอย่างที่ไม่ชอบ ชนิดไม่อยากเฉียด ไม่อยากแตะต้องแบบสุดๆ ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.24 น.513
ริต้า สกีตเตอร์: “แฮร์รี่! ดีจริง! มานั่งกับเราไหม”
แฮร์รี่ พอตเตอร์: “ต่อให้มีไม้กวาดยาวสิบฟุตอยู่ในมือ ผมก็ไม่มีวันเข้าใกล้คุณ”
ในหนังสือฉบับภาษาไทยผู้แปลเปลี่ยนหน่วยจาก สิบฟุต เป็น สามเมตร ซึ่งมีความหมายว่าแฮร์รี่รังเกียจริต้ามากๆ ที่ทำร้ายแฮกริดด้วยการลงข่าวเรื่องเลือดครึ่งผสมยักษ์ และการเขียนข่าวร้ายๆ ต่างๆ นานาที่เขาต้องเจอ
“เหมือนโบวทรัคเกิลกระโจนใส่ไข่ด๊อกซี่ (Like bowtruckles on doxy eggs)”
สำนวนนี้เหมือน “เหมือนสีขาวที่อยู่บนข้าว (like white on rice)” มีความหมายว่า ติดหนึบ ติดแจ เหมือนข้าวสีขาวที่ไม่มีวันเอาสีขาวออกจากข้าวได้ สำนวน “เหมือนโบวทรัคเกิลกระโจนใส่ไข่ด๊อกซี่” คือนักล่าที่รุมเข้าใส่อาหารจานโปรด ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.28 น.515
อาเบอร์ฟอร์ธ: “ถ้ามีใครออกมาเพ่นพ่านอยู่นอกบ้านตอนมืดๆ คาถาแมวครวญจะดังขึ้นทันที แล้วพวกนั้นก็จะตรงรี่เข้าใส่เหมือนโบวทรัคเกิลกระโจนใส่ไข่ด๊อกซี่เชียวละ”
ประโยคนี้อาเบอร์ฟอร์ธต้องการบอกว่า แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ ทั้งสามคนจะเป็นเป้าอันโอชะของผู้เสพความตาย พวกมันจะรุมเข้าใส่ชนิดไม่มีทางหนีไปได้เลย หรือลองดํตัวอย่างสมมติ “เวลาเจอรอน ลาเวนเดอร์ทำตัวเหมือนโบวทรัคเกิลกระโจนใส่ไข่ด๊อกซี่เลยล่ะ” เป็นต้น
“พวกก๊อบลิน (Common goblin)”
เป็นสำนวนโวหารที่มีความหมายถึง พฤติกรรมที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม พฤติกรรมแบบที่เอลฟ์ประจำบ้านดีๆ เขาไม่ทำกัน เป็นสำนวนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อกบฏของก๊อบลินว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงพวกเห็นแก่เงิน เห็นแก่สมบัติก็ได้
ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.8 น.121
วิงกี้: “อิฉันบอกด๊อบบี้ อิฉันบอกว่า ไปหาครอบครัวดีๆ แล้วอยู่กับพวกเขาเถอะนะด๊อบบี้ เขาวุ่นวายเปลี่ยนงานไปเปลี่ยนงานมาเจ้าค่ะ เอลฟ์ประจำบ้านเขาไม่ทำกันแบบนี้ด๊อบบี้ อิฉันบอกเขา ขืนวุ่นวายแบบนี้เดี๋ยวฉันก็จะได้ข่าวว่าเธอถูกเรียกตัวไปที่กองออกระเบียบและควบคุมสัตว์วิเศษเหมือนพวกก๊อบลินหรอก”
ด้วยความที่วิงกี้เป็นเอลฟ์ที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านายเหมือนเอลฟ์ประจำบ้านทั่วไป มองว่าการกระทำของด๊อบบี้เป็นสิ่งแหกคอก เป็นการกบฏต่อรูปแบบเดิมที่ควรจะเป็น ทำตัวเหมือนพวกก๊อบลินนั่นเอง
“ทำเหรียญบรอนซ์คนุตหายแต่ได้เหรียญทองเกลเลียนมาแทน (Losing a Knut and finding a Galleon)”
เป็นสำนวนที่ตรงกับ “เสียหกเพนนีแต่ได้ชิลลิงมาแทน (Losing a sixpence and finding a shilling)” (1 ชิลลิงมีค่า 12 เพนนี) ของมักเกิ้ลอังกฤษ มีความหมายถึงการสูญเสียบางสิ่งไป แล้วได้บางอย่างที่มีค่ามากกว่ามาแทนอย่างไม่คาดคิด ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.27 น.747
ฟัดจ์: “ดีละ ดี ดี ผมมาคืนนี้ตั้งใจว่าจะมาไล่พอตเตอร์ออก แต่แล้วกลับ –“
ดัมเบิลดอร์: “คุณกลับได้จับผมแทน เหมือนกับว่าทำเหรียญบรอนซ์คนุตหายแต่ได้เหรียญทองเกลเลียนมาแทนใช่ไหมล่ะ”
ประโยคนี้ก็คือ ฟัดจ์อดไล่แฮร์รี่ออก แต่กลับได้จับกุมดัมเบิลดอร์แทน เหมือนได้เนื้อชิ้นใหญ่กว่า ได้ตัวบงการไปเลย คุ้มค่าดีจัง ทำนองนี้ครับ
“เคราเมอร์ลินเป็นพยาน (Merlin’s beard)”
เป็นสำนวนโวหารที่ใช้อุทานหรือกล่าวขึ้นมาแสดงความตกใจ ประหลาดใจ กับสิ่งที่ประสบพบเห็น บางครั้งก็ใช้แบบตลกขำขันว่า “กางเกงในเมอร์ลิน (Merlin’s pants)” หรือ “ในนามของกางเกง — (Merlin’s saggy left —)” หรือ “ในนามของกางเกงในเมอร์ลินที่หย่อนยานที่สุด (“Merlin’s most baggy Y-fronts”) เป็นสำนวนที่ใช้ในลักษณะเช่นเดียวกับ “บาดแผลของพระเจ้าเป็นพยาน! (God’s wounds! หรือ God’s Hooks! )” ที่อิงบาดแผลจากการถูกตรึงกางเขนของพระคริสตเจ้า ในที่นี้ พ่อมดเมอร์ลิน เป็นพ่อมดในตำนานของกษัตริย์อาเธอร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ยิ่งใหญ่ และได้รับการยกย่องมาอย่างยาวนาน การกล่าวอ้างถึงเมอร์ลินในหมู่พ่อมด เปรียบเปรยใกล้เคียงกับผู้ยิ่งใหญ่ หรือถ้าภาษาไทยบ้านเราก็อาจจะ “คุณพระคุณเจ้าช่วย” ทำนองนั้นครับ ตัวอย่างที่พบในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์
เอม็อส ดิกกอรี่: “เคราเมอร์ลินเป็นพยาน! แฮร์รี่รึ แฮร์รี่ พอตเตอร์ รึ”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.6 น.92)
แม้ด-อาย (ตัวปลอม): “เคราเมอร์ลินเป็นพยาน แผนที่… เป็นแผนที่ที่ไม่เลวเลยนะพอตเตอร์!”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.25 น.539)
อาเธอร์ วีสลีย์: “เคราเมอร์ลินเป็นพยาน! เธอถูกพิจารณาคดีโดยศาลทั้งคณะเลยหรือนี่”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.9 น.196)
ฟัดจ์: “ถ้าเช่นนั้น คุณตั้งใจจะรับมือกับดอว์ลิช ชักเคิลโบลต์ โดโลเรส แล้วก็ผม ด้วยตัวคุณเองคนเดียวน่ะหรือ ดัมเบิลดอร์”
ดัมเบิลดอร์: “เคราเมอร์ลินเป็นพยาน ไม่ใช่หรอก ยกเว้นแต่ว่าคุณจะโง่พอที่จะบังคับให้ผมต้องทำ”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.27 น.749)
เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์: “สเนปเป็นอาจารย์ใหญ่เนี่ยนะ! สเนปในห้องทำงานของดัมเบิลดอร์ — โอ๊ยตาย กางเกงในเมอร์ลิน!”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.12 น.212)
รอน วีสลีย์: “อ้าวเธอกลับมาแล้ว แล้วในนามของกางเกงในเมอร์ลินที่หย่อนยานที่สุด นั่นมันอะไรล่ะ”
(แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.12 น.213)
“เห็ดโทดสตูลมีพิษไม่เคยเปลี่ยนที่ขึ้น (Poisonous toadstools don’t change their spots)”
ตรงกับสำนวน “เสือดาวไม่เคยเปลี่ยนลาย (a leopard can’t change its spots)” ของมักเกิ้ลอังกฤษ ที่มีความหมายว่า เราไม่สามารถเป็นใครๆ ได้ ธรรมชาติ และพื้นฐานของแต่ละคนเป็นยังไงก็ยังเป็นยังงั้น ไม่สามารถเปลี่ยนได้ ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.12 น.292
รอน: “เห็ดโทดสตูนมีพิษไม่เคยเปลี่ยนที่ขึ้น ถ้าว่าเถอะ ฉันละคิดเสมอว่าดัมเบิลดอร์น่ะบ๊องๆ ที่เชื่อในสเนป หลักฐานอยู่ที่ไหนล่ะที่เขาหยุดทำงานให้คนที่เธอก็รู้ว่าใครแล้ว”
“สิบต่อหนึ่งคนุต (Ten a Knut)”
ตรงกับสำนวน “สิบต่อหนึ่งเพนนี (Ten a Penny)” มีความหมายทำนองว่า สิ่งนั้นมีค่าน้อยมาก ไม่อาจเทียบเท่าได้เลย เป็นของพื้นๆ ธรรมดา ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.21 น.383
รอน: “แต่ว่าเรื่องผ้าคลุมอื่นๆ อีกล่ะ ที่ว่ามันไม่ใช่สิบผืนต่อหนึ่งคนุตนั่นน่ะ มันเรื่องจริงเธอรู้มั้ย! แล้วฉันเคยได้ยินมาเยอะแยะ ที่ว่าคาถาจะเสื่อมลงเวลาผ้าเก่า…”
จากประโยคนี้หมายความว่า ผ้าคลุมล่องหนอื่นๆ ที่ขายตามท้องตลาดสิบผืนรวมกันยังไม่เท่าผ้าคลุมล่องหนของจริงที่แฮร์รี่มีเลย
“เวลาเป็นทองเกลเลียน (Time is Galleons)”
ตรงกับสำนวน “เวลาคือเงิน (Time is Money) มีความหมายว่า เวลานั้นเป็นสิ่งมีค่าเหมือนเงินทอง ควรใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.4 น.96
รอน วีสลีย์: “พวกพี่จะเสียเวลาเพิ่มขึ้นแค่สามสิบวินาทีถ้าเดินลงบันไดมา”
เฟร็ด วีสลีย์: “เวลาเป็นทองเกลเลียน น้องเอ๋ย”
จากประโยคนี้ เฟร็ตต้องการบอกน้องชายตัวเองว่า แค่ 30 วินาทีในการเดินลงบันไดก็มีค่ามากแล้ว ถ้าเวลา 30 วิทำให้คิดสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆ เป็นเงินเป็นทองออกมาได้
“ยอดของกองมูลสัตว์ (Tip of the dung heap)”
พ้องกับสำนวน “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง (tip of the iceberg)” หมายถึง บางสิ่งบางอย่างที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น เหมือนยอดภูเขาที่เป็นแค่ส่วนเล็กสุดของภูเขา ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.2 น.33
ริต้า สกีตเตอร์: “โอ๊ย อาเบอร์ฟอร์ธน่ะเป็นแค่ยอดของกองมูลสัตว์ค่ะ ไม่ใช่เล้ย ไม่ใช่ค่ะ เรื่องที่ฉันว่าน่ะแย่ยิ่งกว่าเรื่องน้องชายของเขาชอบไปวุ่นวายกับแพะ หรือเรื่องพ่อเขาทำร้ายมักเกิ้ลจนพิการเสียอีก”
จากประโยคดังกล่าว หมายความว่า ประเด็นของอาเบอร์ฟอร์ธ หรือพ่อของดัมเบิลดอร์ เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของเรื่องเหม็นโฉ่ที่เหลือของดัมเบิลดอร์เสียอีก
“มีหัวใจขึ้นขน (To have a hairy heart)”
หมายถึงแม่มดหรือพ่อมดที่เย็นชาหรือไร้ความรู้สึก ตรงกับสำนวน “(มีหัวใจเป็นหิน to have a heart of stone)” ของมักเกิ้ล คือ ไร้ความเมตตาสงสาร หัวใจที่กระด้างไร้ความรู้สึก ปรากฏในนิทานของบีเดิลยอดกวี น.59
“ไม่มีที่ให้เหวี่ยงตัวเนียเซิล (Wasn’t room to swing a Kneazle)”
ตรงกับสำนวน “ที่เท่าแมวดิ้นตาย (No room to swing a cat)” ของมักเกิ้ลอังกฤษ หรือสำนวน “ที่เท่าแมวดิ้นตาย” หรือ “เล็กเท่ารูหนู” คือพื้นที่แคบมาก เล็กน้อยมาก สำนวน “ที่เท่าแมวดิ้นตาย” มาจากเรื่องศรีธนญชัย ที่ทูลขอที่ดินเท่าแมวดิ้นตายจากพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยความที่คิดว่าที่ดินเล็กนิดเดียวไม่มีปัญหา พระองค์จึงพระทานมอบให้ตามต้องการ แต่ศรีธนญชัยหลักแหลม นำแมวมาล่ามเชือกแล้วไล่ตีไปทั่ว เลยได้ที่ดินกว้างขวางกว่าที่พระเจ้าแผ่นดินคิดไว้ [อ้างอิง] สำนวนนี้ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.20 น.527
รอน: “ถ้ำคงต้องแน่นน่าดูเลยนะครับ”
แฮกริด: “ไม่มีที่ให้เหวี่ยงตัวเนียเซิลเลยละ”
“เป็นอะไรไม้กายสิทธิ์ตันหรือ? (What’s got your wand in a knot?)”
ตรงกับสำนวน “เป็นอะไรกางเกงในเข้าวินหรือ? (What’s got your knickers in a twist?)” มีความหมายว่า หงุดหงิดอะไรมาเนี่ย? เป็นอะไรล่ะเนี่ย? ปรากฏในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี แต่ในพากย์ไทยแปลตามความหมายว่า “หงุดหงิดเรื่องอะไรกันเนี่ย”
“ทำงานยังกับเอลฟ์ประจำบ้าน (Working like house-elves)”
ตรงกับสำนวน “ทำงานอย่างกับสุนัข (work like a dog หรือ work like a trojan)” หรือสำนวนไทยที่ว่า “เหนื่อยสายตัวแทบขาด” ซึ่งมีความหมายว่า เหน็ดเหนื่อยเพราะการทำงานหนักจนแทบจะไม่ได้พักผ่อน ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.14 น.258
เฮอร์ไมโอนี่: “เธอไม่คิดว่ามันออกจะโจ่งแจ้งว่าเธอแต่งขึ้นเองหรอกหรือ”
รอน: “เธอกล้าดียังไง! เราทำงานกันแทบล้มประดาตายยังกับเอลฟ์ประจำบ้านเชียวนะ!”
ในฉบับภาษาไทยมีการแทรกเสริม “แทบล้มประดาตาย” เข้าไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจสำนวนได้ชัดเจนขึ้น ว่าเป็นการทำงานหนักอย่างสาหัส เป็นสำนวนเปรียบเทียบ เพราะเอลฟ์ประจำบ้านทำงานเยี่ยงทาสของพ่อมดแม่มด จนกลายเป็นที่มาของ ส.ร.ร.ส.อ. (สนับสนุนสมาคมเรียกร้องสิทธิเอลฟ์)
“โยกไม้กายสิทธิ์ของคุณ (Yanking your wand)”
ตรงกับสำนวน “กระตุกโซ่ของคุณ (yanking your chain)” มีความหมายถึงการล้อเล่นขำๆ ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.4 น.58
เฟร็ด: “ผมแกล้งโยกไม้กายสิทธิ์ของคุณต่างหากล่ะ จริงๆ แล้วผมก็คือเฟร็ด”
มู้ดดี้: “เล่นตลกพอแล้ว! อีกคน ไม่รู้จอร์จ หรือเฟร็ด หรือใครก็ตาม ไปกับรีมัส”
“แม้แต่แบ็กแมนก็คงไม่พนันหรอก (Bagman wouldn’t have bet)”
เพราะลูโด แบ็กแมน ขึ้นชื่อเรื่องการพนันขันต่ออย่างมาก สำนวนนี้จึงมีความหมายว่า มีความเป็นไปได้น้อยเกินกว่าจะเชื่อ หรือไม่มีโอกาสเป็นไปได้เอาซะเลย ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.8 น.188
ฟัดจ์: “แต่ผู้คุมวิญญาณเที่ยวเพ่นพ่านอยู่ในเขตชานเมืองของพวกมักเกิ้ล แล้วก็บังเอิญมาเจอพ่อมดอย่างนี้น่ะหรือ โอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ แม้แต่แบ็กแมนก็คงไม่พนันหรอก…”
“คนทรยศต่อเลือด (Blood Traitor)”
มีความหมายถึงพ่อมดแม่มดที่มีสายเลือดบริสุทธิ์ แต่ดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากสิ่งที่เลือดบริสุทธิ์กระทำ เช่นการแต่งงานกับพวกมักเกิ้ล การคบค้าสมาคมกับมักเกิ้ล พวกที่ทำให้เลือดบริสุทธิ์หรือเลือดของผู้วิเศษต้องมัวหมอง ตัวอย่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต บ.10 น.180
ครีเชอร์: “กลับมาอยู่ในบ้านเก่าแก่ของนายหญิงอีกแล้ว พร้อมกับเจ้าคนทรยศต่อเลือดวีสลีย์และยายเลือดสีโคลน — “
“พวกเดอร์สลีย์ (Dursley-ish)”
ด้วยความที่ครอบครัวเดอร์สลีย์ เป็นครอบครัวมักเกิ้ลที่มีทัศนคติด้านลบอย่างรุนแรงกับเวทมนตร์ รวมถึงสังคมผู้วิเศษ และการเข้าเรียนที่ฮอกวอตส์ คำว่า “พวกเดอร์สลีย์” จึงมีความหมายถึง พวกที่มีทัศนคติหรือมุมมองบางอย่างแคบๆ ยึดถือความรู้สึกตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.11 น.271
เชมัส: “แม่ไม่ยอมให้ฉันกลับมาฮอกวอตส์”
แฮร์รี่ พอตเตอร์ : “แต่ — ทำไมล่ะ” เขารู้ว่าแม่ของเชมัสเป็นแม่มด จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าถ้าเช่นนั้น ทำไมเธอถึงแปรพักตร์ไปเป็นแบบพวกเดอร์สลีย์ได้
ในที่นี้จึงหมายถึง แม่ของเชมัสก็เป็นแม่มด ทำไมถึงไม่อยากให้เชมัสมาเรียนที่ฮอกวอตส์ล่ะ
“พวกสัตว์โสโครก (Creatures of Dirt)”
เป็นวลีที่อ้างถึงพ่อมดแม่มดที่เป็น “เลือดสีโคลน” เปรียบ โคลนเป็นสิ่งสกปรก พ่อมดหรือแม่มดที่เกิดจากมักเกิ้ลจึงไม่ต่างอะไรกับสัตว์สกปรก สัตว์โสโครก ตัวอย่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.10 น.229
ครีเชอร์: “พวกเลือดสีโคลน! กากเดนมนุษย์! ไอพวกสัตว์โสโครก!”
“ทำตัวเหมือนเคร้าช์ (do a Crouch)”
บาร์ตี้ เคร้าช์ เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเวทมนตร์ ที่มีความเคร่งครัด เอาจริงเอาจัง ไม่มีคำว่าผ่อนเบา กฎว่าไปตามกฎ แล้วจะไม่ยอมให้อะไรที่ผิดสังเกตเล็ดลอดผ่านไปได้อย่างแน่นอน วลี “ทำตัวเหมือนเคร้าช์” จึงมีความหมายว่า ทำตัวเคร่งครัดตึงเป๊ะ ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.29 น.645
รอน: “เธอจะบ้าหรือ บอกเพอร์ซี่หรือ เขาคงจะทำตัวเหมือนเคร้าช์ แล้วส่งสองคนนี้เข้าคุกไปน่ะสิ”
ในทีนี้จึงหมายความว่า เพอร์ซี่ได้จับสองคนนั้นเข้าคุก เพราะทำอะไรต้องสงสัย และการแบล็กเมล์ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดนแน่ๆ ถ้าบอกเพอร์ซี่
“ทำแบบวีสลีย์ (do a Weasley)”
หลังวีรกรรมการลาออกจากฮอกวอตส์ของฝาแฝดเฟร็ดและจอร์จ วีสลีย์ ที่กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของปี หลังต้องทนการกฎขี่ของอัมบริดจ์ การแทรกแซงของกระทรวงเวทมนตร์ และอีกหลายอย่างมากมาย ที่เปลี่ยนฮอกวอตส์เป็นสถานที่ไม่น่าอยู่ ก็ทำให้เกิดวลีฮิต “ทำแบบวีสลีย์” ซึ่งมีความหมายว่า ลาออกดีกว่า หรือ ระเบิดความบ้าแบบจัดหนักเหมือนเฟร็ดจอร์จเลยดีกว่า เพราะในการลาออก ทั้งสองได้สร้างสีสันความวุ่นวายที่เรียกเสียงเฮไม่น้อย เป็นการแสดงออกในหมู่นักเรียนถึงการออกเดินทางที่น่าตื่นเต้นของทั้งสอง ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.30 น.816
“ถ้าต้องเรียนแบบนั้นอีกชั่วโมง ฉันว่าฉันทำแบบวีสลีย์ดีกว่า…”
จึงหมายความว่า ถ้าต้องทนเรียนวิชาน่าเบื่อชวนหงุดหงิดนี่อีกนิดเดียว ฉันจะระเบิดความบ้าออกมาแล้วนะ!
“เลือดสีโคลน (Mudblood)”
มีความหมายถึง พ่อมดหรือแม่มดที่เกิดจากมักเกิ้ล เป็นคำหยาบคายที่ใช้กันในหมู่พ่อมดแม่มดเลือดบริสุทธิ์ หมายถึงเลือดสกปรก ไม่ใช่เลือดที่ใส่สะอาด ตัวอย่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ บ.7 น.139
เดรโก มัลฟอย: “ไม่มีใครขอความเห็นเธอสักหน่อย ยายเด็กเลือดสีโคลนโสโครก”
“ล่อ (mule)”
เป็นคำที่ใช้ดูถูกเซ็นทอร์ด้วยกันเอง ว่าเซ็นทอร์ตัวนั้นประพฤติตัวไม่มีศักดิ์ศรี ล่อ ซึ่งเป็นลูกผสมม้ากับลา มีความคล้ายคลึงกับเซ็นทอร์ คือ ครึ่งคน ครึ่งม้า นิยมใช้เพื่อการขนของ เป็นแรงงานของมนุษย์ แต่เซ็นทอร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่แรงงานของมนุษย์ มีอิสระ มีเสรี ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.15 น.311
เบน: “แกทำอะไรนี่ แกให้มนุษย์ขี่หลัง! แกไม่รู้จักละอายใจบ้างหรืออย่างไร แกทำตัวเหมือนล่อชั้นต่ำให้คนขี่หลังอย่างนั้นหรือ”
“ส่งไปอยู่สำนักงานเซ็นทอร์ (sent to the Centaur Office)”
เป็นตลกร้ายของพ่อมดแม่มดวัยทำงานเลยล่ะครับ ยิ่งถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงเวทมนตร์ ถ้าได้ยินสำนวนนี้เข้าไปล่ะก็ เตรียมโดนไล่ออกจากงานได้เลย เพราะสำนักงานเซ็นทอร์ไม่เคยมีเซ็นทอร์มาใช้บริการเลย ปรากฏในหนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ น.ฒ
“เรื่องเล่าที่เหมาะสมกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ (a tale worthy of Harry Potter)”
เป็นประโยคเด็ดในสำนักพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ตในช่วงปี 1995-1996 โดยมีความหมายสื่อสารถึงความลวงโลก การตบตา เกินจริง ไม่ว่าข่าวใดก็ตามที่มีเหตุการณ์น่าทึ่ง หรือน่าเหลือเชื่อ ก็จะเขียนว่า “เรื่องเล่าที่เหมาะสมกับแฮร์รี่ พอตเตอร์” เพื่อสื่อว่า “เป็นเรื่องเกินจริง” ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.4 น.102
เช่น ใครที่เราเห็นว่าเป็นคนที่โกหกเก่งมาก สร้างเรื่องเก่งมาก เราอาจเปลี่ยนเป็น “เรื่องเล่าที่เหมาะสมกับ…คนๆ นั้น” ก็ได้
“อัมบริดจ์อักเสบ (Umbridge-itis)”
หลังการออกเดินทางของฝาแฝดวีสลีย์ ก็สร้างกระแสนิยมอย่างสุดโต่งขึ้นในฮอกวอตส์ โดยเฉพาะชั้นเรียนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดของอัมบริดจ์ ที่นักเรียนพร้อมใจกันใช้อาหารว่างเลี่ยงงาน สินค้าสุดเจ๋งของฝาแฝด เพื่อทำให้อ้วกแตก เป็นลมล้มพับหรือมีไข้ขึ้นสูงกันยกห้อง โดยเรียกโรคนี้ว่า “อัมบริดจ์อักเสบ” หลังเธอสั่งกักบริเวณติดต่อกันสี่ครั้ง ซึ่งมีความหมายไปในทางไม่ชื่นชอบใครคนใดคนหนึ่ง ที่เห็นแล้วก็ชวนให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวขึ้นมาเลย แค่เปลี่ยนชื่อคนที่ไม่ชอบ แล้วตามด้วยอักเสบ ^ ^ ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.30 น.817
“คุณเป็นหัวตรงกลาง (You’ve gone middle head)”
เป็นสำนวนที่มีที่มาจากงูรูนสพัวร์ซึ่งมีสามหัว หมายถึงคนที่มีวิสัยทัศน์ ปรากฎครั้งแรกในภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์: อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์
นิวท์: “ใช่ นั่นก็เพราะคุณเป็นหัวตรงกลาง”
ทีน่า: “ว่าไงนะ”
นิวท์: “มันเป็นสำนวนที่ได้มาจากสามหัวของรูนสพัวร์ หัวตรงกลางเป็นหัวที่มีวิสัยทัศน์ เวลานี้มือปราบมารทุกคนในยุโรปอยากให้ครีเดนซ์ตาย — ยกเว้นคุณ คุณเลยเป็นหัวตรงกลางไง”
– บทภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์: อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์ ฉากที่ 80
อ้างอิง
- HP-LEXICON
- Harry Potter Wiki
- สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “I” โดย อ.วิภัช ธราภาค
- The Free Dictionary
- World Wide Word
- Wikitionary
- Engisfun
- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
นักแปลไม่ได้แปลผิดหรอกค่ะ เพราะ 10 ฟุตมันก็ประมาณ 3 เมตรนั่นแหละ
เค้าแค่แปลงหน่วยให้คุ้นหูคนไทยเฉยๆ
โอ้… แอดมินใช้คำผิดเอง ขอบคุณมากเลยครับ