ผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตวิเศษต่ำช้าที่จะดูดกลืนเอาความสุขของเหยื่อไป ผู้คุมวิญญาณเคยทำหน้าที่ดูแลคุกอัซคาบันอยู่นานหลายปี กระทั่งถูกยกเลิกออกไปในยุคสมัยของรัฐมนตรีคิงส์ลีย์ ชักเคิลโบลต์
ลักษณะทางกายภาพของผู้คุมวิญญาณ
“ซากศพที่แช่น้ำอยู่นานจนเน่าเปื่อย”
(นักโทษแห่งอัซคาบัน หน้า 107)
“ตรงที่ที่ควรจะเป็นลูกนัยน์ตา มีเพียงผิวโล้นๆ ตกสะเก็ด สีเทาแห้งๆ ขึงปิดเบ้าตากลวงโบ๋ แต่มันมีปาก… เป็นโพรงเปิดอ้าไม่เป็นรูปเป็นร่าง ที่ดูดอากาศเข้าไปจนเกิดเสียงดัง”
(นักโทษแห่งอัซคาบัน หน้า 458)
ใต้ผ้าคลุมศีรษะคือส่วนหัวที่ไร้ดวงตา และแทนที่ด้วยสิ่งที่เหมือนปาก ใช้สำหรับสูดเอาความรู้สึกดีๆ ออกไปจากเหยื่อ และบางครั้งหากจำเป็น ผู้คุมวิญญาณจะใช้ปากนั้นสำหรับการมอบจุมพิต เรียกกันว่า “จุมพิตผู้คุมวิญญาณ”
ธรรมชาติของผู้คุมวิญญาณไม่เคยรู้จักการให้อภัย ไม่เคยสนใจว่าเหยื่อจะเป็นคนดี หรือคนเลว ไม่สนใจว่าเหยื่อจะเป็นอะไร มันจะกลืนกินความสุขของเหยื่ออย่างไม่แยแส และไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะลองดีกับผู้คุมวิญญาณ
ผู้คุมวิญญาณโปรดปรานที่มืด สกปรก และโสโครก ซึ่งใช้สำหรับการขยายพันธุ์ มันรุ่งเรืองขึ้นด้วยความเสื่อมและความสิ้นหวัง ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าผู้คุมวิญญาณจะทนอยู่ใต้แดดจ้าได้ไม่นาน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.2 น.38)
ว่ากันว่าผู้คุมวิญญาณจะดูดกลืนเอาความสุขทั้งหลายทั้งมวลออกไปจากเหยื่อ ไม่เว้นแม้แต่พวกมักเกิ้ล ก็สามารถรับรู้ได้ถึงการมาเยือนของผู้คุมวิญญาณ แม้จะมองไม่เห็นก็ตามที
ผู้คุมวิญญาณมีผลต่อมักเกิ้ล แม้ว่าดัดลีย์จะมองไม่เห็น แต่ก็รับรู้ได้ ซึ่งผู้ที่ปลดปล่อยผู้คุมวิญญาณให้มาโจมตีแฮร์รี่ในครั้งนั้นก็คือ โดโลเรส อัมบริดจ์
การเข้าใกล้ผู้คุมวิญญาณจะมีผลต่อคุณ ความรู้สึกดีๆ ความทรงจำแสนสุข จะถูกกลืนหายออกไปจากตัวของคุณ
“นายรู้ไหมว่ามันเย็นมากขนาดไหน ตอนที่ผู้คุมเข้ามาน่ะ… เหมือนกับว่าฉันจะไม่มีวันร่าเริงได้อีกแล้ว”
-รอน วีสลีย์ (นักโทษแห่งอัซคาบัน หน้า 108)
“ทุกอย่าง เย็นไปหมด… มันเป็นคืนหน้าร้อนที่อากาศอบอ้าวมากๆ แล้วดิฉันก็รู้สึก… ราวกับว่าความสุขทั้งหมดหายไปจากโลกนี้… และดิฉันก็นึกถึง… เรื่องร้ายกาจต่างๆ”
-มิสซิสฟิก (ภาคีนกฟีนิกซ์ หน้า 186)
จุมพิตของผู้คุมวิญญาณ
ใครก็ตามที่ได้รับจุมพิตของผู้คุมวิญญาณจะสูญเสียความทรงจำไปตลอดกาล และถูกดูดกลืนเอาความรู้สึกไปจากตัวจนหมดสิ้น เหลือไว้เพียงร่างที่ไม่ต่างอะไรกับการตาย หากแต่ยังมีลมหายใจ เหยื่อที่โดนจุมพิตจะไม่มีทางนำเอาความรู้สึกอะไรเหล่านั้นกลับมาได้อีก
ลูปินอธิบายถึงจุมพิตของผู้คุมวิญญาณไว้ว่า
“แย่กว่าความตายอีก เธอมีร่างที่ปราศจากวิญญาณได้ตราบเท่าที่สมองและหัวใจยังทำงาน แต่เธอจะไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนอยู่อีกต่อไป ไม่มีความทรงจำ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีโอกาสจะฟื้นคืนเหมือนเดิมด้วย เธอแค่มีชีวิตอยู่เหมือนเปลือกหอยกลวงๆ โดยที่วิญญาณจากร่างไปแล้วชั่วกาลนาน”
(นักโทษแห่งอัซคาบัน หน้า 298)
ผู้คุมวิญญาณแห่งอัซคาบัน
ผู้คุมวิญญาณถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่เลวร้ายที่สุดในโลกเวทมนตร์ชนิดหนึ่ง มันเป็นสิ่งมีชีวิตต่ำทราม ที่ใช้ในการปกป้องนักโทษแห่งอัซคาบันไม่ให้นักโทษหลบหนีไป เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะถูกจองจำไว้ในความทุกข์ระทมจนไม่อาจหาเรี่ยวแรงหลบหนีไปไหนได้อีก มีการใช้งานผู้คุมวิญญาณทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดีใดๆ ก็ตามที่มีโทษถึงขังคุกอัซคาบัน ผู้คุมวิญญาณจะถูกนำตัวมาร่วมในการพิจารณาคดี เพื่อเตรียมสำหรับรับตัวนักโทษกลับไปยังคุก
ซึ่งคุกอัซคาบันแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมายาวนานนับแต่ศตวรรษที่ 15 ก่อนจะถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษของโลกเวทมนตร์เสียอีก เดิมเป็นเพียงเกาะทางทะเลเหนือที่มีป้อมปราการ เป็นที่อยู่ของพ่อมดศาสตร์มืดที่ชั่วร้ายคนหนึ่งนามอีคริซดิส ผู้คุมวิญญาณอยู่ในสถานที่แห่งนี้มานานนับแต่นั้นเช่นกัน และเพราะมันเต็มไปด้วยผู้คุมวิญญาณที่เกาะแห่งนั้น เดโมคลีส โรลว์ รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ในขณะนั้น จึงยืนกรานที่จะใช้เกาะดังกล่าวเป็นคุกขังพ่อมดแม่มดที่ทำผิด ที่ยืนยันแน่นอนได้ว่านักโทษพวกนี้จะไม่มีวันแหกคุกออกมา เพราะทุกคนจะเสียสติเมื่อถูกขังไว้ที่นั่น [อ้างอิง Pottermore]
บทลงโทษสูงสุดสำหรับนักโทษที่จำคุกอัซคาบันแล้วหลบหนี จนถูกจับกุมได้อีกครั้งถูกจุมพิตของผู้คุมวิญญาณ เพื่อจองจำร่างของเขาไม่ให้หลบหนีออกจากคุกได้อีก
ภายหลังจากที่ผู้คุมวิญญาณเข้าร่วมกลุ่มผู้เสพความตาย ภายใต้ความสวามิภักดิ์ต่อโวลเดอมอร์ คุกอัซคาบันที่เคยให้ความปลอดภัยได้ว่าจะไม่มีนักโทษแหกคุกก็ไร้ประโยชน์ ซึ่งในปี 1998 หลังสิ้นสุดสงครามโลกเวทมนตร์ครั้งที่ 2 รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์คิงสลีย์ ชักเคิลโบลต์ ได้ออกมาตรการให้ขจัดผู้คุมวิญญาณทั้งหมดออกจากคุกอัซคาบัน และเปลี่ยนการคุ้มกันเป็นบรรดามือปราบมารแทน [อ้างอิง Pottermore]
การรับมือกับผู้คุมวิญญาณ
การขับไล่ผู้คุมวิญญาณ ทำได้เพียงการใช้คาถาผู้พิทักษ์ (ร่ายว่า เอกซ์เปกโต พาโตรนุม) เพื่อขับไล่มันออกไปเท่านั้น?
ผมบังเอิญสะดุดใจกับท่อนนี้ แล้วคิดว่า นี่ล่ะคือสิ่งที่รับมือผู้คุมวิญญาณได้ โดยไม่ต้องพึ่งผู้พิทักษ์ นั่นคือ “จงพิทักษ์ตนเองด้วยตนเอง” จากตอนที่ซิเรียส แบล็กบอกกับแฮร์รี่ ว่า
“เหตุผลเดียวที่ฉันไม่สูญเสียสติไปก็คือ ฉันรู้ว่าตัวเองบริสุทธิ์ มันไม่ใช่ความคิดที่เป็นสุข ดังนั้นพวกผู้คุมวิญญาณจึงไม่สามารถดูดความคิดนี้ไปจากตัวฉันได้… แต่มันทำให้ฉันมีสติและรู้ว่าตัวเองเป็นใคร”
– ซิเรียส แบล็ก (นักโทษแห่งอัซคาบัน หน้า 442)
นั่นหมายความได้ชัดเจนว่า ผู้คุมวิญญาณจะไม่มีผลกับผู้มีสติ และอยู่ในความไม่สุขไม่ทุกข์
ผู้คุมวิญญาณจะมีผลกับคนที่เคยเผชิญกับเรื่องร้ายกาจที่ชวนสยดสยอง หรือหดหู่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นที่มีผลกับผู้คุมวิญญาณ เนื่องจากเขาสูญเสียพ่อแม่ไปในวัยเด็ก และยังเศร้าหมองใจที่ต้องอยู่กับครอบครัวเดอร์สลีย์ที่ไม่ได้เลี้ยงดูเขาอย่างดีเหมือนพ่อแม่
จุดอ่อนของผู้คุมวิญญาณ ว่ากันว่ามันไม่ชื่นชอบแสงนัก และหากเหยื่อเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ ไม่ใช่คน หรือ มนุษย์ ความซับซ้อนของสัตว์ทำให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของผู้คุมวิญญาณ ซิเรียสมักแปลงร่างเป็นสุนัขขนาดใหญ่ที่หลายคนมองว่าเป็นกริม เพื่อหนีรอดจากผู้คุมวิญญาณ และทำให้เขาไม่โดนกลืนกินความสุขออกไปเหมือนนักโทษอัซคาบันคนอื่นๆ
ช็อกโกแลตมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูผู้ที่พานพบกับผู้คุมวิญญาณ แต่เพียงระยะสั้นเท่านั้น การรักษาที่ได้ผลคือการใช้ความสุขที่ถาวร [Pottermore]
ผู้คุมวิญญาณที่บุกทำร้ายแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นฝีมือของใคร?
ในวันที่ 2 สิงหาคม 1995 แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ขณะนั้นกำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 5 ที่ฮอกวอตส์) ระหว่างการปิดภาคเรียนเขาได้เสกคาถาผู้พิทักษ์ระหว่างการเดินทางกลับบ้านเลขที่ 4 ซอยพรีเว็ต เพื่อปกป้องดัดลีย์ เดอร์สลีย์ ญาติของตนเองจากผู้คุมวิญญาณ ทว่าการเสกคาถาของเขาถือเป็นความผิดตามกระบวนกฎหมายเวทมนตร์ว่าด้วยการเปิดเผยความลับต่อผู้ไร้เวทมนตร์ เป็นเหตุให้ได้รับจดหมายและถูกนำตัวเข้าพิจารณาคดีที่กระทรวงเวทมนตร์เป็นครั้งแรก
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ก็คือ โดโลเรส เจน อัมบริดจ์ คนของกระทรวงเวทมนตร์เอง แต่เธอแอบกระทำอย่างลับๆ เพื่อหวังว่าจะกำจัดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปให้พ้นทาง กระทรวงเวทมนตร์จะได้มั่นคงต่อไป
“…เขาไม่รู้เลยว่าฉันเองละที่เป็นคนสั่งผู้คุมวิญญาณให้ไปจัดการพอตเตอร์เมื่อหน้าร้อนที่ผ่านมา แต่เขาก็ดีอกดีใจนักที่จะมีโอกาสไล่พอตเตอร์ออกจากโรงเรียนได้”
“คุณนี่เองหรือ คุณส่งผู้คุมวิญญาณไปตามล่าผมหรือ”
“บางคนต้องลงมือนี่ พวกนั้นน่ะได้แค่คร่ำครวญว่าต้องปิดปากเธอด้วยวิธีไหนวิธีหนึ่ง — ต้องทำให้เธอเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ — แต่ฉันนี่แหละที่เป็นคนลงมือทำอะไรจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้… เสียแต่ว่าเธอดิ้นหลุดอันนั้นมาได้ ใช่ไหมล่ะ พอตเตอร์ แต่ไม่ใช่วันนี้หรอกนะ ไม่ใช่ตอนนี้ –“
– อัมบริดจ์ พูดกับแฮร์รี่ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บ.32 น.898)
ในแง่ของปรัชญา
หากมองในเชิงปรัชญา ผู้คุมวิญญาณเป็นหนึ่งในตัวแทนของความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจากการขาด (Privation) เนื่องจากผู้คุมวิญญาณจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดกลืนความสุขและจิตใจของมนุษย์ การขาดสิ่งนั้นทำให้มันตาย และความชั่วร้ายเกิดขึ้นเพราะการบกพร่องด้วยการขาดของความดี ในที่นี้คือทำให้มนุษย์ขาดความสุข ขาดจิตใจที่ดีงาม อันหลงเหลือแต่เพียงความทุกข์ ความเศร้าหมอง
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ ผู้คุมวิญญาณ
- เจ.เค.โรว์ลิ่งเปิดเผยว่า เธอนำเอาความหดหู่สิ้นหวังของการสูญเสียแม่คนรักและต้องเป็นผู้แบกรับความซึมเศร้านั้นมาสร้างเป็นผู้คุมวิญญาณ ผู้คุมวิญญาณจึงถูกถ่ายทอดออกมาจากความหดหู่ของเธอ [อ้างอิงจาก J.K.Rowling: A Year in the Life]
- เจ.เค.โรว์ลิ่ง เคยให้สัมภาษณ์ว่าดัดลีย์ เดอร์สลีย์ เห็นอะไรจากการโดนผู้คุมวิญญาณโจมตีในภาค 5 เธอบอกว่า “ตามความรู้สึกของฉัน เขาเห็นตัวเอง เห็นว่าตัวเองเป็นคนแบบไหนเป็นเด็กผู้ชายที่ถูกโอ๋จนเสียคน มันน่าตกใจ เขาเหมือนถูกต่อยให้ได้สติ การโจมตีของผู้คุมวิญญาณไม่เป็นผลดีสำหรับคนทั่วไป แต่ยกเว้นกับเขา” [อ้างอิง งาน Open Book Tour ณ Carnegie Hall, 19 ตุลาคม 2007]
- ในภาพยนตร์ผู้คุมวิญญาณบินไปมาได้ แต่ในหนังสือเป็นการร่อนไปเท่านั้น
- ในภาพยนตร์ภาค 3 และ 5 ผู้คุมวิญญาณ ได้รับการออกแบบต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความแตกต่าง ในภาค 3 ผู้คุมวิญญาณสวมผ้าคลุมหัว ในขณะที่ภาค 5 ผู้คุมวิญญาณปลดผ้าคลุมหัวออก
- เจ.เค.โรว์ลิ่งกล่าวว่า ผู้คุมวิญญาณไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ แต่เติบโตขึ้นจากความเน่าเปื่อยเหมือนรา [อ้างอิง]
- ชื่อของผู้คุมวิญญาณ ได้นำไปตั้งเป็นชื่อของตัวต่อในจีนัส Ampulex ว่า Ampulex dementor ที่ได้รับการค้นพบว่ามีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นต่อคุมวิญญาณ [อ้างอิงข่าว]