รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ (Ministers of Magic)

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ คือผู้นำที่ดูแลชุมชนผู้วิเศษในประเทศหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะ และเป็นผู้นำของกระทรวงเวทมนตร์ในประเทศนั้น ๆ


เนื้อหาใหม่จาก เจ.เค.โรว์ลิ่ง

กระทรวงเวทมนตร์ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1707 โดยบุคคลแรกที่ถูกเรียกว่าเป็น “รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์” ก็คือ อูลิค แกมป์ (Ulick Gamp)  ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์มีที่มาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในบางเวลาที่มีสถานการณ์วิกฤตตำแหน่งนี้ก็จะถูกเสนอให้บุคคลหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะโดยไม่ต้องอาศัยการลงคะแนนเสียงของสาธารณะ (อัลบัส ดัมเบิลดอร์ เคยได้รับการเสนอชื่อในลักษณะดังกล่าว แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำอีก)   วาระการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีนั้นไม่มีกำหนดไว้ตายตัว แต่ก็มีข้อบังคับให้เขาหรือเธอสามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุดไม่เกินเจ็ดปี แล้วต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่   รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์มักมีแนวโน้มที่จะอยู่ในตำแหน่งนานกว่าเหล่าผู้นำรัฐบาลของมักเกิ้ล ซึ่งถ้าว่ากันตามธรรมดาโดยไม่คำนึงถึงเสียงคร่ำครวญหรือด่าทอแล้ว พบว่าชุมชนผู้วิเศษก็มักจะหนุนหลังรัฐมนตรีของพวกเขาในรูปแบบที่ไม่อาจหาได้บ่อย ๆ ในโลกมักเกิ้ล ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะชุมชนผู้วิเศษรู้สึกว่าหากบริหารจัดการกันเองได้ไม่ดี แล้วพวกมักเกิ้ลจะหาเรื่องเข้ามาแทรกแซง

ผู้นำรัฐบาลของมักเกิ้ลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ เพราะเป็นตำแหน่งซึ่งได้มาโดยการลงคะแนนเสียงของเฉพาะเหล่าชุมชนผู้วิเศษด้วยกันเองเท่านั้น   กิจการทั้งสิ้นอันเกี่ยวเนื่องกับชุมชนผู้เศษในเกาะบริเตนล้วนอยู่ในอำนาจสิทธิ์ขาดของรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ รวมถึงอำนาจตุลาการในการพิพากษาคดีด้วย   การเข้าพบผู้นำรัฐบาลมักเกิ้ลของรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ในกรณีฉุกเฉินจะถูกประกาศโดยภาพเหมือนของอูลิค แกมป์ (รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์คนแรก) ที่แขวนอยู่บนผนังห้องหนังสือของผู้นำรัฐบาลมักเกิ้ล ในอาคารเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่ง (10 Downing Street)

ไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลของมักเกิ้ลคนใดเคยย่างเท้าเข้ามายังกระทรวงเวทมนตร์เลย ตามเหตุผลสั้น ๆ ได้ใจความที่กล่าวโดยอดีตรัฐมนตรีดูกอลด์ แม็คเฟล (ตำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1858-1865) ว่า “สมงสมองพวกนั้นรับ’ไรที่เห็นที่นี่ไม่ได้ร็อก!”

 

รัฐมนตรีและวาระการดำรงตำแหน่ง

อูลิค แกมป์ (Ulick Gamp) 1707 – 1718

ในช่วงที่เป็นผู้นำศาลสูงวิเซ็นกาม็อต แกมป์ต้องรับภาระหนักในการจัดการกับความกราดเกรี้ยวและหวาดกลัวของชุมชนผู้วิเศษที่มีต่อการบังคับใช้บทบัญญัตินานาชาติเกี่ยวกับความลับพ่อมดแม่มด  ผลงานชิ้นสำคัญของเขาคือการก่อตั้งกองบังคับควบคุมกฎหมายเวทมนตร์

เดโมคลีส โรวล์ (Damocles Rowle) 1718 – 1726

โรวล์ได้รับเลือกตั้งมาด้วยนโยบายที่ ‘ก้าวร้าวกับมักเกิ้ล’ ซึ่งหลังจากถูกเพ่งเล็งจากสมาพันธรัฐพ่อมดนานาชาติ เขาก็ถูกบังคับให้สละตำแหน่งไปในที่สุด

เพอร์ซีอุส พาร์กินสัน (Perseus Parkinson) 1726 – 1733

มีความพยายามจะผ่านร่างกฎหมายห้ามแต่งงานกับมักเกิ้ล ซึ่งสวนทางกับทัศนคติของผู้วิเศษในเวลานั้นที่เบื่อหน่ายกับการต่อต้านมักเกิ้ล พวกเขาต้องการสันติ และได้ลงคะแนนเสียงให้เขาออกจากตำแหน่งในการเลือกตั้งครั้งถัดมา

เอลดริทช์ ดิกกอรี่ (Eldritch Diggory) 1733 – 1747

รัฐมนตรีผู้ได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้ริเริ่มการสรรหาบุคคลเข้าเป็นมือปราบมาร เอลดริทช์เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง (เป็นโรคฝีมังกร)

อัลเบิร์ต บู๊ต (Albert Boot) 1747 – 1752

เป็นที่นิยม แต่ทว่าไร้ความสามารถ ลาออกจากตำแหน่งหลังล้มเหลวในการรับมือการก่อกบฎของก๊อบลิน

บาซิล แฟล็ก (Basil Flack) 1752 – 1752

เป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด ด้วยเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ลาออกหลังจากกลุ่มก๊อบลินรวมกำลังกับมนุษย์หมาป่า

ฮีเฟสตัส กอร์ (Hesphaestus Gore) 1752 – 1770

กอร์เป็นหนึ่งในมือปราบมารรุ่นแรก ๆ  เขาประสบความสำเร็จในการจัดการกับการลุกฮือของพวกอมนุษย์ แม้นักประวัติศาสตร์หลายคนจะรู้สึกว่าการปฏิเสธที่จะทบทวนมาตรการในการดัดสัญชาตญาณมนุษย์หมาป่าของเขานั้นทำให้มีการทำร้ายเพิ่มมากขึ้นก็ตาม มีการปรับปรุงและเสริมความแข็งแกร่งให้คุกอัซคาบันในยุคสมัยของรัฐมนตรีท่านนี้ด้วย

แม็กซิมิเลียน คราวดี้ (Maximilian Crowdy) 1770 – 1781

บิดาของทายาทคราวดี้ทั้งเก้า ผู้นำผู้ชักจูงกลุ่มผู้วิเศษเลือดบริสุทธิ์หัวรุนแรงให้วางแผนโจมตีมักเกิ้ล การเสียชีวิตอย่างปริศนาขณะดำรงตำแหน่งของเขาถูกตีแผ่ในหนังสือและทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก

พอร์เทียส แนทช์บูล (Porteus Knatchbull) 1781 – 1789

พอร์เทียสได้รับการติดต่ออย่างลับ ๆ ในปี 1782 จากลอร์ดนอร์ธ (Lord North) ผู้นำรัฐบาลมักเกิ้ลในขณะนั้น ให้ช่วยดูว่าเขาจะสามารถช่วยเหลือพระอาการสติวิปลาสของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ได้หรือไม่ ภายหลังมีข่าวรั่วออกมาว่าลอร์ดนอร์ธเป็นพวกมีความเชื่อเรื่องพ่อมด และพอร์เทียสก็ถูกบังคับให้สละตำแหน่งหลังจากพฤติกรรมการไม่รักษาความลับดังกล่าว

อองชัวส์ ออสเบิร์ต (Unctuous Osbert) 1789 – 1798

เป็นที่รู้กันว่าอองชัวส์ถูกชี้นำการทำงานโดยพวกเลือดบริสุทธิ์ ที่ล่อใจเขาด้วยความมั่งคั่งและเกียรติยศ

อาร์ทีมิเซีย ลุฟกิ้น 1798 – 1811 (Artemisia Lufkin)

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์หญิงคนแรก ผู้ก่อตั้งกองความร่วมมือด้านเวทมนตร์ระหว่างประเทศ และพยายามอย่างยิ่งจนกระทั่งทำให้เกาะบริเตนได้เป็นเจ้าภาพควิดดิชเวิลด์คัพในสมัยที่เธอดำรงตำแหน่ง

โกรแกน สตัมป์ (Grogan Stump) 1811 – 1819

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นแฟนควิดดิชตัวยง (สาวกทีมทัตชิล ทอร์เนโดส์) ผู้ก่อตั้งกองควบคุมดูแลเกมและกีฬาเวทมนตร์ และริเริ่มให้มีกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์วิเศษและสิ่งมีชีวิตวิเศษ ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมาหลังจากนั้นเป็นเวลานาน

โจเซฟิน่า ฟลินต์ (Josephina Flint) 1819 – 1827

มีทัศนคติต่อต้านมักเกิ้ลอย่างร้ายกาจ รังเกียจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของมักเกิ้ล อย่างเช่นโทรเลข ที่เธออ้างว่ารบกวนการทำงานของไม้กายสิทธิ์

อ๊อตตาไลน์ แกมโบล (Ottaline Gambol) 1827 – 1835

หนึ่งในรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่สุด แกมโบลริเริ่มให้มีคณะกรรมาธิการศึกษาวิทยาการความรู้ของมักเกิ้ล ซึ่งเห็นได้ชัด ณ ยุคสมัยของจักรวรรดิอังกฤษในเวลานั้นว่ามีบางอย่างที่เหนือกว่าวิทยาการความรู้ของเหล่าผู้วิเศษเสียอีก

ราโดลฟัส เลสแตรงจ์ (Radolphus Lestrange) 1835 – 1841

รัฐมนตรีหัวเผด็จการที่พยายามยุบกองปริศนา ซึ่งไม่ลงรอยกับนโยบายบริหารงานของเขา โดยแม้ที่สุดแล้วจะลาออกไปเพราะปัญหาสุขภาพก็ตาม แต่ก็ลือกันว่าเพราะเขาไม่สามารถรับมือกับความตึงเครียดในกระทรวงได้มากกว่า

ฮอร์เทนเซีย มิลลิฟุต (Hortensia Milliphutt) 1841 – 1849

เป็นผู้บัญญัติกฎหมายออกมามากกว่ารัฐมนตรีใด ๆ ที่เคยดำรงตำแหน่ง กฎหมายส่วนใหญ่ใช้ได้ผลดี แต่บางฉบับก็จุกจิกจู้จี้ (ไร้จุดหมาย นึกอะไรได้ก็ออกไปเรื่อย) ซึ่งที่สุดแล้วก็ส่งผลให้คะแนนนิยมของเธอตกต่ำลง

อีวานเจลีน ออร์พิงตัน (Evangeline Orpington) 1849 – 1855

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์เพียงคนเดียวที่เป็นพระสหายของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ผู้ไม่เคยทรงทราบเลยว่าตนเองเป็นแม่มด   เชื่อกันว่าออร์พิงตันได้ใช้เวทมนตร์ (อย่างผิดกฎหมาย) เข้าแทรกแซงสงครามไครเมีย*ด้วย
*(จากผู้แปล) สงครามไครเมียเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1853-1856 ระหว่างกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส กับกองทัพรัสเซีย บริเวณคาบสมุทรไครเมีย ประเทศตุรกี

ปริสซิลลา ดูปองต์ (Priscilla Dupont) 1855 – 1858

มีความไม่ลงรอยกับลอร์ดพาลเมอร์สตัน (Lord Palmerston) ผู้นำรัฐบาลมักเกิ้ล อย่างไม่มีเหตุผล แล้วบานปลายกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวตามมา (อยู่ ๆ เหรียญเงินในกระเป๋าของเขาก็กลายเป็นไข่กบ ฯลฯ) ที่ทำให้เธอถูกบังคับให้ลงจากตำแหน่ง น่าขันที่สองวันหลังจากนั้น พาลเมอร์สตันก็ถูกมักเกิ้ลบังคับให้สละตำแหน่งด้วยเหมือนกัน

ดูกอลด์ แมคเฟล (Dugald McPhail) 1858 – 1865

เป็นช่วงราบรื่นไร้ปัญหา  เป็นภาวะที่สถาบันการปกครองของมักเกิ้ลกำลังระส่ำระส่าย ซึ่งก็ทำให้กระทรวงเวทมนตร์ได้รู้จักช่วงเวลาที่สงบเงียบในที่สุด

ฟาริส สปาวิน “จอมโม้” (Faris “Spout-hole” Spavin) 1865 – 1903

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด และขึ้นชื่อว่าช่างจ้อที่สุดด้วย เขารอดตายจากความพยายามลอบสังหาร (ด้วยการเตะ) ของเซ็นทอร์ที่รับไม่ได้เกี่ยวกับมุกตลกของเขาที่เกี่ยวกับเซ็นทอร์ ผี แล้วก็คนแคระที่เข้าไปในบาร์พร้อมกัน   โดยหลังจากที่เขาสวมหมวกนาวิกโยธินกับรองเท้าหุ้มข้อไปร่วมพิธีศพของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ทางศาลสูงวิเซ็นกาม็อตก็เห็นสมควรที่จะให้คำแนะนำอย่างสุภาพว่าเขาลงจากตำแหน่งไปได้แล้ว (สปาวินมีอายุ 147 ปี ตอนที่สละตำแหน่ง)

เวนูเซีย คริกเกอร์ลี่ (Venusia Crickerly) 1903 – 1912

อดีตมือปราบมารคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ซึ่งมีทั้งความสามารถและเป็นที่นิยมชมชอบ   คริกเกอร์ลี่เสียชีวิตในอุบัติเหตุประหลาดขณะที่เธอกำลังทำสวน (เนื่องจากแมนเดรก)

อาร์เชอร์ เอเวอร์มอนด์ (Archer Evermonde) 1912 – 1923

เป็นการดำรงตำแหน่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของมักเกิ้ล เอเวอร์มอนด์ได้ออกกฎหมายห้ามแม่มดและพ่อมดเข้าร่วมสงครามดังกล่าวเด็ดขาด เพราะสุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิดการละเมิดบทบัญญัติเกี่ยวกับความลับพ่อมดแม่มดนานาชาติอย่างเอิกเกริก  แต่ก็มีหลายพันคนที่ขัดคำสั่ง แล้วเข้าไปสมทบกับมักเกิ้ลเท่าที่พวกเขาทำได้

ลอร์แกน แมคแลร์ด (Lorcan McLaird) 1923 – 1925

เป็นพ่อมดที่มากพรสวรรค์ แต่เป็นนักการเมืองที่แย่   แมคแลร์ดเป็นคนที่เงียบขรึมอย่างสุดขั้ว ชอบสื่อสารด้วยคำสั้น ๆ เพียงพยางค์เดียว แล้วก็อำพรางตัวในกลุ่มควันหนาที่เสกออกมาจากปลายไม้กายสิทธิ์   ภายหลังถูกบังคับให้สละตำแหน่งด้วยพฤติกรรมวิตถารน่าหงุดหงิดดังกล่าว

เฮกเตอร์ ฟอว์ลีย์ (Hector Fawley) 1925 – 1939

ไม่มีข้อกังขาเลยว่ารัฐมนตรีรายนี้ถูกเลือกเข้ามาเพราะมีอุปนิสัยคนละขั้วกับแมคแลร์ด คือแสนจะกระตือรือร้นและรักความโอ่อ่าฟู่ฟ่า อย่างไรก็ตาม ฟอว์ลีย์ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อภัยคุกคามในชุมชนผู้วิเศษ ซึ่งเป็นฝีมือของเกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ ซึ่งก็ทำให้เขาต้องสละตำแหน่งไปในที่สุด

ลีโอนาร์ด สเปนเซอร์-มูน (Leonard Spencer-Moon) 1939 – 1948

รัฐมนตรีผู้เพียบพร้อม ผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากตำแหน่งพนักงานชงชาในกองอุบัติเหตุและหายนะเนื่องด้วยเวทมนตร์   ผู้สร้างยุคสมัยอันรุ่งเรืองในความสัมพันธ์ระหว่างผู้วิเศษกับมักเกิ้ล และทำงานร่วมกันได้อย่างดีกับ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)*
*(จากผู้แปล) วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษของอังกฤษ

วิลเฮลมิน่า ทัฟต์ (Wilhelmina Tuft) 1948 – 1959

แม่มดจิตใจร่าเริงที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาแห่งสันติภาพและความรุ่งเรือง แต่ถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่ง หลังจากค้นพบเมื่อสายเสียแล้วว่าเธอแพ้ใบอลิฮอทซี่ (Alihotsy) ที่ผสมในขนมฟัดจ์ของเธอ

อิกเนเชียส ทัฟต์ (Ignatius Tuft) 1959 – 1962

บุตรชายของรัฐมนตรีคนก่อน รัฐมนตรีหัวรุนแรงผู้อาศัยชื่อเสียงของผู้เป็นแม่เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง  ภายหลังถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งเนื่องการนำเสนอมาตรการการขยายพันธุ์ผู้คุมวิญญาณ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นตระหนกและอันตรายอย่างยิ่ง

น๊อบบี้ ลีช (Nobby Leach) 1962 – 1968

รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์คนแรกที่เกิดจากมักเกิ้ล การขึ้นสู่ตำแหน่งของเขาสร้างความตกตะลึงในหมู่เจ้าหน้าที่อาวุโส (ที่เป็นพวกเลือดบริสุทธิ์) และมีหลายคนถึงขั้นลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วง   ลีชมักให้การปฏิเสธบ่อย ๆ ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการที่ทีมชาติอังกฤษได้ถ้วยฟุตบอลโลกเมื่อปี 1966    ต่อมาลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่อธิบายไม่ได้ (เชื่อว่าเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดอีกเช่นกัน)

ยูจีเนีย เจนคินส์ (Eugenia Jenkins) 1968 – 1975

เจนคินส์ต้องรับมืออย่างแข็งขันกับการก่อกวนของพวกเลือดบริสุทธิ์ท่ามกลางการเดินขบวนของพวกสควิบในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ก่อนที่จะต้องเผชิญกับการเถลิงอำนาจครั้งแรกของลอร์ดโวลเดอมอร์   จากนั้นไม่นานเจนคินส์ก็ต้องถูกให้ออกจากตำแหน่งเพราะไม่มีความสามารถมากพอ ที่จะรับมือสถานการณ์เช่นนี้

แฮโรลด์ มินชัม (Harold Minchum) 1975 – 1980

ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แม้เขาจะเพิ่มกำลังผู้คุมวิญญาณรอบอัซคาบันแล้วก็ตาม ก็ยังไม่อาจควบคุมการเถลิงอำนาจของลอร์ดโวลเดอมอร์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงนั้นได้

มิลลิเซนต์ แบ็กโนลด์ (Millicent Bagnold) 1980 – 1990

รัฐมนตรีมากความสามารถ เธอต้องตอบคำถามสมาพันธรัฐพ่อมดนานาชาติเกี่ยวกับการละเมิดบทบัญญัตินานาชาติเกี่ยวกับความลับพ่อมดแม่มดอย่างมากมายในวันและคืนหลังจากที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ รอดชีวิตจากการโจมตีของลอร์ดโวลเดอมอร์  ทั้งยังได้ทำตัวเธอเองให้เป็นที่รู้จักด้วยวลีที่ถูกลืมไปแล้ว ว่า “ดิฉันมอบสิทธิ์เต็มเหนี่ยวให้ทุกคนจัดปาร์ตี้!” ซึ่งทำให้เกิดเสียงโห่ร้องยินดีจากทุกคนที่ได้ฟังกันยกใหญ่

คอร์นีเลียส ฟัดจ์ (Cornelius Fudge) 1990 – 1996

นักการเมืองมืออาชีพผู้ชอบทำตัวเป็นยามแก่ ๆ เสียมากกว่า การเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของลอร์ดโวลเดอมอร์ทำให้เขาต้องลงจากเก้าอี้ไปในที่สุด

รูฟัส สคริมเจอร์ (Rufus Scrimgeour) 1996 – 1997

อดีตมือปราบมารคนที่สามที่ได้ดำรงตำแหน่ง   สคริมเจอร์ตายขณะดำรงตำแหน่งด้วยฝีมือของลอร์ดโวลเดอมอร์

ไพอัส ทิกเนส (Pius Thicknesse) 1997 – 1998

บันทึกอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ไม่นับรวมรัฐมนตรีรายนี้ เพราะเขาอยู่ใต้คำสาปสะกดใจตลอดวาระที่ดำรงตำแหน่ง และไม่รู้ตัวเองว่าได้ทำอะไรไปบ้างขณะดำรงตำแหน่งอยู่

คิงสลีย์ ชักเคิลโบลต์ (Kingsley Shacklebolt) 1998 – ปัจจุบัน

ผู้ดำเนินการให้มีการจับกุมเก็บกวาดเหล่าผู้เสพความตายและผู้สนับสนุนลอร์ดโวลเดอมอร์หลังจากลอร์ดโวลเดอมอร์เสียชีวิต เริ่มแรกถูกเรียกว่าเป็น “รัฐมนตรีรักษาการณ์” แล้วต่อมาภายหลังชักเคิลโบลต์ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

* ก่อนปี ค.ศ.1707 สภาพ่อมดเป็นสถาบันทางการปกครองเหนือชุมชนผู้วิเศษที่ทำหน้าที่มายาวนาน (แม้จะไม่ได้มีแค่สถาบันนี้เพียงสถาบันเดียวก็ตาม)   แต่หลังจากประกาศใช้บทบัญญัตินานาชาติเกี่ยวกับความลับพ่อมดแม่มดเมื่อปี ค.ศ.1692 ชุมชนผู้วิเศษก็ต้องการหน่วยงานทางการปกครองที่มีโครงสร้าง การบริหารจัดการ และโครงข่ายที่ชัดเจนกว่าที่เคยมีมาเพื่อที่จะได้สนับสนุน บังคับใช้กฎหมาย และสื่อสารกับชุมชนผู้วิเศษในเรื่องของการรักษาความลับได้ ซึ่งตอนนั้นมีเพียงแม่มดและพ่อมดที่เห็นด้วยกับการมีคำว่า “รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์” เท่านั้นที่เข้าร่วมกับหน่วยงานใหม่แกะกล่องนี้


ต้นฉบับภาษาอังกฤษ: https://www.pottermore.com/writing-by-jk-rowling/ministers-for-magic