เจาะรายละเอียดปก “ตำราเรียนฮอกวอตส์” ที่วาดโดย Apolar ผู้วาดปก 20 ปีแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาษาไทย

ตำราเรียนฮอกวอตส์ ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม คือ ควิดดิชในยุคต่าง ๆ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และนิทานของบีเดิลยอดกวี เขียนโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้ประพันธ์นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยเปลี่ยนนามปากกาไปตามหนังสือแต่ละเล่ม ซึ่งทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้ผลิตออกมาแล้วหลายฉบับ ซึ่งฉบับล่าสุดนี้ออกแบบภาพปกโดย Apolar (ศิลปินไทย) ผู้วาดปกและภาพประกอบหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปีในประเทศไทย

ควิดดิชในยุคต่าง ๆ

เขียน: เคนนิลเวอร์ที วิสป์ (เจ.เค.โรว์ลิ่ง)
แปล: ผีเสื้อสมุทร ณ เกาะแก้วพิสดาร (อ.สุมาลี บำรุงสุข)

Apolar ยังคงทำให้หน้าปกดึงดูดใจได้อีกครั้ง กับการวาดปกตำราเรียนของฮอกวอตส์ทั้ง 3 เล่ม โดยเล่ม “ควิดดิชในยุคต่างๆ” เลือกนำเสนอชุดแข่งขันของแต่ละทีม โดยหยิบเอาเฉพาะทีมแข่งของเกาะบริเตนและไอร์แลนด์มาใช้ในการวาดปก โดยประกอบไปด้วยสีและตราของแต่ละทีม และคิดว่าตราสัญลักษณ์ของแต่ละทีมคุณอาชว์น่าจะหยิบยกมาจากงานวาดของ Tomislav Tomic ที่วาดภาพประกอบให้กับหนังสือชุดตำราเรียนฉบับภาษาอังกฤษด้วย น่าจะเพื่อให้ล้อกับภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้

ภาพตราสัญลักษณ์ของทีมควิดดิชแต่ละทีม โดย Tomislav Tomic

บางส่วนมีการดีไซน์ใหม่ ซึ่งตราที่ชอบที่สุดคือตราของทีมทัดชิลล์ทอร์เนโดส์ ที่ตัว T T สองตัวอยู่ในรูปร่างคล้ายพายุด้วย ชอบที่มันล้อกับชื่อทีมได้ดีมาก ๆ และอีกส่วนที่ชอบคือการออกแบบไม้กวาดบินที่ยังคงคอนเซปต์ม้าก้านกล้วยได้สวยมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวตัวต่อ หัวนกแมกไพ หัวค้างคาว หรือไม้กวาดบินของแต่ละทีมที่สะท้อนตัวตนได้เท่มาก อย่างไม้กวาดของทีมทัดชิลล์ทอร์เนโดส์ที่เหมือนมีพายุหมุนออกมาจากปลายไม้กวาด

หากพิจารณาจากตัวผู้แข่งขันแต่ละคน ทีมไพรด์ออฟพอร์ทรี น่าจะเป็นคาทรีโอนา แมกคอร์แมก เชสเซอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของทีม และเป็นกัปตันทีมชนะเลิศควิดดิชลีก 2 ครั้ง ในทศวรรษที่ 1960 และเล่นให้ทีมชาติสกอตแลนด์ถึง 36 ครั้ง

แอบเสียดายนิดนึงที่ปกหลังทีมแอปเพิลบีแอร์โรวส์ ถ้ายืนปะทะกับทีมวิมบอร์นวอสปส์ ก็จะตรงกับเนื้อหาที่สองทีมนี้เป็นคู่ปรับคู่อาฆาตกันมายาวนาน (ควิดดิชในยุคต่าง ๆ บ.7) แต่ก็เข้าใจได้ว่าคู่สีมันเข้ากันได้ดีมากกว่าถ้าเป็นสีแดงกับเหลือง

สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่

เขียน: นิวท์ สคามันเดอร์ (เจ.เค.โรว์ลิ่ง)
แปล: พลอย โจนส์ (เล่มนี้ไม่ได้ใช้นามปากกา นิลมังกร แบบเล่มเก่า ๆ)

สำหรับปก “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” ต้องบอกว่า กลิ่นอายจากภาพยนตร์ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ในภาคแรกออกมาเต็มล้นมาก ๆ เริ่มตั้งแต่นิวท์ที่โผล่ออกมาจากกระเป๋าเดินทาง มีเกร็ดข้อมูลว่ามาจากบ้านฮัฟเฟิลพัฟมากับผ้าพันคอ มีโบว์ทรักเกิลแสนรักตัวประจำที่ติดตามนิวท์ไปทุกที่อย่างเจ้าพิกเกตต์ นกอ็อกคามี่ที่อิงจากภาพยนตร์ ตามมาด้วยดิริคอว์ลที่ถ้าใครได้ดูภาค 3 ไปก็คงจะเห็นมันกระโดดหายตัวอยู่ที่ทิเบต ซึ่งเจ้าตัวนี้ก็คือโดโด้สัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วนั่นเอง

ตัวประกอบอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ เจ้าก้อนกลม ๆ หลบมุมอยู่ใต้ดิริคอว์ล ตอนแรกคิดว่าเป็นอีรัมเพนท์แบบในหนัง แต่ไม่ใช่ เพราะมันไม่มีนอที่ระเบิดได้ 55+ มันคือตัวโปเกรบิน ที่มีลักษณะสีเทาใหญ่เหมือนก้อนหินกลม ๆ มัน ๆ ส่วนตัวอื่น ๆ แฟน ๆ น่าจะคุ้นเคย คุ้นตากันดี

แต่จุดเครียดของการแกะปกเล่มนี้คือ ไข่สามใบที่อยู่ด้านบน ใบแรกอ็อกคามีแน่นอน เพราะเจาะไข่ออกมาเหมือนในภาพยนตร์ แถมเป็นเงินบริสุทธิ์ อีกใบก็น่าจะไข่แอชวินเดอร์ งูที่เกิดจากไฟเวทมนตร์ ไข่ของมันเป็นสีแดงสดใสและมีความร้อนสูงมาก ซึ่งถ้าใครมีเล่มจริงอยู่ เจ้าแอชวินเดอร์ตัวนี้จะอยู่ที่สันปกและกำลังวางไข่หลายฟองเลย! ไข่อีกใบก็ไข่ฟวูปเปอร์แน่ ๆ เพราะลวดลายสวยงามแบบหนังสืออธิบาย และมีหน้าเหมือนฟวูปเปอร์ด้านซ้าย บวกกับลายหมุนวนบนเปลือกไข่เหมือนขนบนหัวของมัน ก็เลยคอนเฟิร์มว่าใช่แหละ (ไม่ใช่ก็หน้าแตก)

ไข่ที่เครียดมาก เพราะหาเจ้าของไข่สีเขียวที่มีลายวน ๆ อันนั้นไม่เจอ เพราะไข่มังกรเวลส์สีเขียวธรรมดามันก็เป็นสีน้ำตาลจุดเขียว (เอ๊ะ รึไข่บาซิลิสก์? เพราะบาซิลิสก์มีสีเขียวสด ใครรู้บอกได้นะ) และตอนนี้คิดว่ามันอาจเป็นไข่ดิริคอว์ล แต่ในหนังสือไม่มีระบุไว้ เลยไม่กล้าสรุปคำตอบ จนต้องไปถาม Apolar ผู้วาด และได้คำตอบว่ามันเป็นไข่ของดิริคอว์ลจริง ๆ ครับ!

ใครที่มีเล่มจริง จะเจอบิลลี่วิกบิลอยู่ที่สันปกกับแอชวินเดอร์ด้วย

ต่อกันที่ปกหลัง ปกหลังก็ยังเล่าบรรยากาศจากภาพยนตร์อยู่ ไม่ว่าจะตัวเมิร์ตแลปตัวเด่นดังคล้ายหนูที่มีเนื้องอกชมพู ถ้านึกไม่ออกลองย้อนไปดูฉากที่เจคอบเปิดกระเป๋าที่คิดว่าเป็นของตัวเองแต่ดันสลับกับของนิวท์ ตัวนั้นเลย ที่ชอบอีกอย่างคือมีตัวจาร์วีย์แสนแสบของเล่ม และในเกร็ดเบื้องหลังของภาพยนตร์ เอกสารโดนไล่ออกของนิวท์บอกว่าเขาโดนไล่ออกเพราะตัวจาร์วีย์ แต่ยังไง จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้ แล้วดูหน้าตามันดิ เอาไรมาทำให้โดนไล่ออก เพราะมันพูดจาหยาบ ๆ คาย ๆ หรอ?

สัตว์ที่พึ่งเคยเห็นหน้าเห็นตาจริง ๆ วันนี้ คือตัวโมค เจ้ากิ้งก่าเขียวมุมขวาบน เพราะในหนังสือ ตัวโมคเป็นสัตว์เลื้อยคลานสีเขียวเงิน หนังมันถูกนำมาทำกระเป๋าเงินเพราะเกล็ดจะหดหนีจากมือคนแปลกหน้าได้เอง

หางที่โผล่มานิดเดียวใต้เดมิไกส์ คือเจ้ารูนสพัวร์ งูสามหัว เพราะรูนสพัวร์มีสีส้มเข้มและมีริ้วสีดำ

สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างคือ ไม่รู้คุณอาชว์ตั้งใจรึเปล่าที่จะเก็บความเชื่อมโยงกับเล่มก่อนหน้าที่นานมีบุ๊คส์ผลิตออกมาด้วย เพราะในปกวาดพัฟฟ์สกีนบนพื้นเขียว ทำให้นึกถึงปกที่วาดโดย Jonny Duddle เพราะปกหลังมีตัวเอกเป็นพัฟฟ์สกีน (ออกเสียงตามเอ็ดดี เรดเมย์น ผู้ให้เสียงบรรยาย ebooks เล่มนี้)

อีกจุดที่ตอนแรกจะตัดออกไป ก็คือแมงมุมตัวจิ๋ว ๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นอะโครแมนทูลา แต่ถ้าวาดอะโครแมนทูลาลงมามันก็คงจะล้น เลยอะคงใช่แหละ ลูกอะโครแมนทูลาละกัน แต่เพื่อเช็คให้ชัวร์ ก็เลยซูม! และผลที่ได้คือคุณอาชว์วาดตาแปดตาให้มันด้วย! ซึ่งเล่มจริงมองไม่เห็นตา 555+ เลยซูมมาให้ดูด้วยเลย

นับตาได้เลย 555+ มีแปดตาไม่หลอกลวง

นิทานของบีเดิลยอดกวี

เขียน: เจ.เค.โรว์ลิ่ง
แปล: อ.สุมาลี บำรุงสุข

ก่อนอื่นเลย ปกเล่มนี้เป็นปกที่เราชอบมากที่สุด ถ้าจัดลำดับความชอบ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วความตายก็ไม่ได้น่ากลัว ความตายเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต

ปกนิทานของบีเดิลยอดกวีเล่าออกมาแบบตรง ๆ แต่ไม่ได้สปอยล์เนื้อหาของนิทานทั้ง 5 เรื่องของบีเดิล โดยส่วนตัวรู้สึกว่างานวาดเล่มนี้ให้กลิ่นอายทั้งปกดั้งเดิมที่เจ.เค.โรว์ลิ่งวาดมือ และงานของ Tomislav Tomic จากเถาไม้ จากผีเสื้อ ที่ประกอบกรอบของทั้งปกหน้าและปกหลัง

หากมองดี ๆ แล้วกรอบเถาไม้โดยรอบมีลักษณะคล้ายกับปีกของยมทูตที่ปกคลุมไปทั้ง 5 เรื่องราว แต่ละเรื่องมีความตายเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อมดกับหม้อกระโดดได้ ที่พ่อมดชราจากไป ทิ้งลูกชายพ่อมดไว้กับหม้อประหลาดมีขา น้ำพุแห่งโชคดีทีเดียวที่แอชากำลังป่วยด้วยโรคที่ไม่มีทางรักษาจึงหวังพึ่งพรจากน้ำพุ หัวใจขึ้นขนของผู้วิเศษที่ถอดหัวใจเก็บไว้จนพาความตายมาสู่หญิงสาวที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแบ็บบิตตี้ แบ็บบี้ตี้ ที่เหล่าพ่อมดแม่มดหนีตายจากการล่าแม่มดของพระราชาโง่เง่า และเรื่องสุดท้ายนิทานสามพี่น้องที่ต้องเผชิญหน้ากับยมทูต

ในตอนแรกเราสับสนนิดหน่อยว่าแม่มดทั้ง 3 คนเป็นใครบ้าง เลยเดาเอาจากความใกล้ชิด การที่แม่มดในชุดอินเดียใกล้ชิดกับเซอร์ลักเลสส์ เลยคิดว่าเป็น อมตา แม้ Amata เป็นภาษาอิตาเลียนที่หมายถึง “ที่รัก” ถัดมาคือแม่มดชุดสีเหลืองเราคิดว่าเป็นอัลเทดา เพราะภาพที่เจ.เค.วาดและที่ Tomislav Tomic วาดในฉากแม่มดเก็บสมุนไพรเป็นแม่มดผมเปียยาว เลยคิดว่าเธอคืออัลเทดา และสุดท้ายแอชา (แม่มดในชุดไทย) น่ารักมาก ๆ

ถ้าเรียงลำดับจากการที่เถาวัลย์เลือกเข้าไป แอชาเป็นคนแรก ตามมาด้วยอัลเทดา และอมตา แต่เพราะชุดคลุมของอมตาดันไปเกี่ยวกับชุดเกราะของเซอร์ลักเลสส์ เขาเลยพ่วงมาเป็นคนที่สี่ ในภาพก็เลยเรียงลำดับจากคนล่างสุดไปท้าย

ใครที่ยังไม่เคยอ่านนิทานของบีเดิลยอดกวี อยากให้ลองซื้ออ่านดูครับ เพราะเนื้อหาข้างในเป็นนิทานของผู้วิเศษ อ่านแล้วเพลิน ๆ แต่มีฉากตายในเรื่องของหัวใจขึ้นขนของผู้วิเศษด้วย

ปกหลังของเล่มนี้ปิดท้ายได้สงบเงียบมาก ๆ ภาพของอิกโนตัส เพฟเวอเรลล์ที่หลบรอดจากการล่อลวงของยมทูตมาได้จนแก่ชรา และวันที่ยมทูตมารับตัวเขาไป ก็กลับไปด้วยกันประหนึ่งมิตร ในหนังสือระบุว่า “เมื่อน้องสุดท้องถึงกาลชราภาพ เขาจึงถอดผ้าคลุมล่องหนออก และส่งมอบให้บุตรชาย จากนั้นเขาต้อนรับยมทูตดั่งเพื่อนเก่า และเดินทางไปด้วยกันอย่างยินดี ทั้งสองจากชีวิตนี้ไปในฐานะผู้เสมอกัน”

ตำราเรียนฮอกวอตส์ทั้ง 3 เล่ม วางจำหน่ายฉบับปกอ่อนแล้ววันนี้ ส่วนบ็อกเซ็ตปกแข็งจะมาให้จับจองเดือนตุลาคมนี้ครับ สามารถสั่งซื้อฉบับปกอ่อนได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์โดยตรง