แม่มดเฒ่า (The Hag)

หนังสือ พลังมืด: คู่มือป้องกันตนเอง โดย ควินติน ทริมเบิล ในเว็บไซต์ Pottermore เก่า (อ่านแปลไทย) ระบุเนื้อหาอธิบายเกี่ยวกับแม่มดเฒ่าไว้ว่า

แม่มดเฒ่า เป็นสิ่งมีชีวิตรูปลักษณ์คล้ายมนุษย์ที่กินเด็กเป็นอาหาร  และมีแนวโน้มที่จะมีหูดมากกว่าแม่มดปกติ

(The hag is a child-eating creature of human appearance, though likely to have more warts than the average witch.)

แม่มดเฒ่า หรือ Hag เป็นสิ่งมีชีวิต (Creature) ที่รูปลักษณ์คล้ายแม่มดแก่ๆ หน้าตาอัปลักษณ์ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านการปลอมตัวหรือทำตัวให้กลมกลืนกับมักเกิ้ลเหมือนพ่อมดแม่มดทั่วไปได้ เราพบเห็นแม่มดเฒ่าได้ในนิยายแฟนตาซีทั่วไปของมักเกิ้ล ที่บอกเล่าถึงแม่มดหน้าตาอัปลักษณ์ น่าเกลียด น่ากลัว สร้างความเชื่อน่าหวาดกลัวว่าแม่มดนั้นชั่วร้ายให้กับสังคมผู้ไร้เวทมนตร์ ฮอกส์มี้ดจึงเป็นสถานที่หลบภัยให้กับบรรดาแม่มดเฒ่าเลือกอาศัยอยู่เพราะปราศจากมักเกิ้ลในสถานที่แห่งนี้ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.19) *ในฉบับภาษาไทยแปล hags ว่า แม่มดแก่ๆ

ในศตวรรษที่ 14 แม่มดเฒ่า เคยได้รับการจัดเป็น “สิ่งมีชีวิตชั้นสูง” เมื่อมีการนิยามโดย เบอร์ด็อก มัลดูน ประธานสภาพ่อมดในศตวรรษที่ 14 ซึ่งระบุให้ “สมาชิกชุมชนผู้วิเศษตัวใดที่เดินสองเท้าจะได้รับสถานะ ‘สิ่งมีชีวิตชั้นสูง'” และนั่นก่อให้เกิดหายนะอย่างมาก เมื่อแม่มดเฒ่าในที่ประชุมพยายามบินร่อนไปทั่วเพื่อหาเด็กกิน (ตำราเรียน สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ โดย นิิวท์ สคามันเดอร์ หน้า ฐ) ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว แม่มดเฒ่าก็ได้รับการจัดไว้ให้เป็น สถานะสิ่งมีชีวิตชั้นสูง  (Being) ตามนิยามของโกรแกน สตัมป์ ในปี 1811 เพราะแม่มดเฒ่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดเพียงพอจะเข้าใจและรับผิดชอบต่อกฎหมายเวทมนตร์ได้ (ตำราเรียน สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ โดย นิิวท์ สคามันเดอร์ บทนำ)

แฮกริดเล่าว่า ศาสตราจารย์ควิรินัส ควีเรลล์ เคยมีเรื่องกับแม่มดเฒ่าระหว่างออกศึกษาและต่อสู้กับศาสตร์มืดจนเป็นเหตุให้เขาประหลาดไปจากแต่ก่อน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.91 ในเล่มภาษาไทยระบุว่า แม่มดแก่ๆ) แต่ดูเหมือนความจริงที่เขาวิปลาสไปเป็นเพราะความพยายามออกตามหาโวลเดอมอร์และพ่ายแพ้ให้กับการครอบงำของโวลเดอมอร์ต่างหาก (Pottermore)

กิลเดอรอย ล็อกฮาร์ต ยังเคยเขียนหนังสือ วันหยุดพักผ่อนกับแม่มดเฒ่า หนึ่งในหนังสือที่นักเรียนฮอกวอตส์ชั้นปีที่ 2 ต้องซื้อเรียนด้วย และแน่นอนว่าเนื้อหาในหนังสือ วีรกรรมยอดเยี่ยมทั้งหมดนั้นล็อกฮาร์ตอาจแค่แต่งขึ้นหรือไปเอาผลงานของคนอื่นมาเขียน…

นอกจากนี้ ในปี 1993 ระหว่างที่แฮร์รี่พักอยู่ในร้านหม้อใหญ่รั่ว แฮร์รี่ยังเคยเห็นแม่มดเฒ่าคนหนึ่งสั่งตับสดหนึ่งจานเป็นอาหารจากร้านหม้อใหญ่รั่ว (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4 น.68)

ดูเหมือนผู้หญิงแก่หน้าตาอัปลักษณ์ ร้องสั่งตับสดหนึ่งจานผ่านโปงหมวกไหมพรมหนาหนักที่คลุมหน้าคลุมตาไว้ (what looked suspiciously like a hag, who ordered a place of raw liver from behind a thick woollen balaclava.)
– (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4)

และในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 เดลี่พรอเฟ็ตฉบับตีพิมพ์วันที่ 1 ตุลาคม 1999 ซึ่งเขียนพิเศษขึ้นโดยเจ.เค.โรว์ลิ่ง ตีพิมพ์หัวข้อข่าว “น้ำยาตัวใหม่ความหวังแก่แม่มดเฒ่า (New Potion Gives Hope for Hags)” ระบุถึง ศาสตราจารย์เรกูลัส มูนไชน์ (Professor Regulus Moonshine) นักวิจัยผู้ค้นพบน้ำยาเวทมนตร์ที่สามารถลดอาการอยากกินเนื้อมนุษย์ดิบๆ ในแม่มดเฒ่าได้ ทว่าบาดแผลที่กินบริเวณกว้างของศาสตราจารย์มูนไชน์ทั้งบริเวณหน้าและลำคอจากการถูกกัด บ่งชี้ว่างานวิจัยของเขาก็ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งยังมีการก่อตั้งสมาคมเพื่อการปฏิรูปแม่มดเฒ่า (Society for the Reformation of Hags) โดย โฮโนเรีย นัตคอมบ์ (Honoria Nutcombe) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1665-1743

ผู้ที่มีการระบุว่าเป็นแม่มดเฒ่า

แอนนิส แบล็ก (Annis Black) แม่มดเฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำที่เดชมาร์ช (Deadmarsh) ของอังกฤษ ที่ส่งจดหมายถึงเดลี่พรอเฟ็ตในหัวข้อข่าว “A Word in Support of Hags” เพื่อแสดงความไม่พอใจที่แม่มดเฒ่าโดนมองว่าเป็นปีศาจร้ายจ้องกินเด็ก และสนับสนุนให้เห็นว่าแม่มดเฒ่าเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่ฟังดูอบอุ่นและร่าเริง (อ้างอิง เดลี่พรอเฟ็ต ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 1998, HP-Lexicon และ Harry Potter Wiki)

 

บาบายาก้า (Babayaga)

babaya10

แม่มดเฒ่าชาวรัสเซียผู้อาศัยอยู่ในกระท่อมที่ตั้งอยู่ได้ด้วยขาของไก่ยักษ์ เธอกินเด็กเป็นอาหารเช้า และน่าจะรวมถึงมื้อกลางวันและเวลาจิบชาด้วย (ปรากฏครั้งแรกในการ์ดกบช็อกโกแลตบนเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน)

 

คอดีเลีย มิสเซอรีคอร์เดีย (Cordelia Misericordia) 

cordel10

ตัวแทนแม่มดเฒ่าในการประชุมสุดยอดของสภาพ่อมดในศตวรรษที่ 14 (ปรากฏครั้งแรกในการ์ดกบช็อกโกแลตบนเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน)

 

เลทิเซีย ซอมโนเลนส์ (Leticia Somnolens) 

letici10

แม่มดเฒ่าผู้อาฆาตแค้นเพราะอิจฉาในตัวลูกสาวของกษัตริย์ จึงทำให้นิ้วของเจ้าหญิงทิ่มไปบนกระสวยที่อาบด้วยยาตายทั้งเป็น พ่อมดหนุ่มเห็นเข้าจึงเอายาวิกเกนเวลด์ (Wiggenweld Potion) ทาริมฝีปากและบรรจงจูบเจ้าหญิง แล้วพาเธอกลับคืนจากภวังค์ (ปรากฏครั้งแรกในการ์ดกบช็อกโกแลตบนเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน)

 

มาโลโดร่า กรีมม์ (Malodora Grymm)

malodo10

ผู้มีชื่อเสียงจากการใช้น้ำยาเสริมความงามปกปิดร่างที่แท้จริงของเธอเพื่อจะได้แต่งงานกับกษัตริย์ และใช้กระจกวิเศษเพื่อเสริมสร้างรูปลักษณ์ให้ตัวเอง นำไปสู่แรงริษยาในความงามของหญิงสาวผู้สวยที่สุดของเมืองและจัดการเธอด้วยแอปเปิ้ลอาบยาพิษ (ปรากฏครั้งแรกในการ์ดกบช็อกโกแลตบนเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน)

 

แม่แก่ฮับบาร์ด (Old Mother Hubbard)

old_mo10

มีชื่อเสียงจากการล่อสัตว์จรจัดให้เข้ามาในบ้านและปล่อยให้พวกมันอดอาหารจนตาย (ปรากฏครั้งแรกในการ์ดกบช็อกโกแลตบนเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน)

 

เกร็ดน่ารู้

  • คำว่า Hag ที่แปลไทยว่าแม่มดเฒ่านั้น มีที่มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 ใช้ระบุถึงแม่มดหรือหญิงชราที่อัปลักษณ์ น่าเกลียด น่ากลัว พบเห็นได้ในนิทานหรือเรื่องเล่าพื้นบ้าน อย่าง แฮนเซลกับเกรเทล (Hansel and Gretel) โดยคำนี้น่าจะกร่อนมาจากคำว่า hægtesse ในภาษาอังกฤษเก่าที่หมายถึงแม่มด และรวมถึง heks ในภาษาดัตช์ และ Hexe ในภาษาเยอรมันด้วย ซึ่งในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของเจ.เค.โรว์ลิ่ง กำหนดให้ แม่มดเฒ่ามีสถานะเป็น สิ่งมีชีวิตวิเศษที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ชอบกินเด็ก และมีหูดตามร่างกายเป็นจำนวนมาก
  • ในหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บทที่ 13 ปรากฏการใช้คำว่า แม่มดเฒ่า ในลักษณะของคำด่าว่า The Old Hag! ซึ่งได้รับการแปลไทยว่า ยายแก่ปลาร้า! ซึ่งหากแปลตรงตัวว่า ยายแม่มดเฒ่า! คงไม่ได้อรรถรสมากพอ จึงมีการนำไปเปรียบกับปลาร้า ที่อยู่ในลักษณะของ ปลาหมักเกลือจนเละและส่งกลิ่น ที่ส่งให้คนไทยอ่านแล้วเห็นภาพถึงยายแก่อัปลักษณ์น่ารังเกียจได้มากกว่าตรงตัวว่า แม่มดเฒ่า