การพยากรณ์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์

บทความนี้เป็นบทความที่ย้ายมาจากบอร์ดสารานุกรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ บอร์ดเก่าครับ เป็นผลงานเขียนของ Tong Hunter ที่แอดมินแก้ไขชื่อตัวละครให้ถูกต้องเพิ่มเติมครับ เป็นเนื้อหาที่น่าสนใจสำหรับคนที่ชื่นชอบการพยากรณ์ ดาราศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ การทำนายครับ


ในโรงเรียนฮอกวอตส์ วิชาพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) เป็นวิชาเลือกที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป (ทั้งนี้ นักเรียนทุกคนจะได้รับการปูพื้นฐานด้วยการเรียนวิชาดาราศาสตร์ (Astronomy) ในปีที่ 1 ซึ่งก็ตรงกับหลักที่อาจารย์อารี สวัสดีเคยสอนไว้หลายครั้งว่า “โหร ถ้าไม่รู้จักดาว ก็ไปได้ไม่ไกล”) ในวิชาพยากรณ์ศาสตร์ นักเรียนจะได้เรียนเทคนิคการพยากรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ โหราศาสตร์ (Astrology), การอ่านกากใบชา (Tea leaves), ไพ่ (Cartomancy), อ่านลายมือ (Palmistry), การพยากรณ์จากความฝัน (Dream Interpretation), การพยากรณ์จากลูกแก้ว (Crystal Ball), ทำนายกองไฟ (Fire-omens) ฯลฯ ในนวนิยายเรื่องนี้ เราพบว่า เจ.เค.โรว์ลิ่ง มีความเข้าใจในความแตกต่างของพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) และโหราศาสตร์ (Astrology) เป็นอย่างดี เมื่อเธอใช้คำว่าโหราศาสตร์ (Astrology) ก็จะหมายถึงการใช้ปัจจัยบนฟ้ามาพยากรณ์ แต่เมื่อพูดรวมๆทุกวิธีแล้ว ก็จะใช้คำว่า พยากรณ์ศาสตร์ (Divination) นั่นเอง

trelawny

อาจารย์สอนวิชานี้ ในฮอกวอตส์คือ ศาสตรารย์ซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ ซึ่งเป็นลูกของเหลนของผู้พยากรณ์ที่มีชื่อเสียงและมีพรสวรรค์มากๆ (คาสซานดร้า ทรีลอว์นีย์) แม้ว่าคำพยากรณ์ของทรีลอว์นีย์หลายครั้งจะดูเหมือนการเดาสุ่ม แต่เธอก็มีคำพยากรณ์ที่แม่นยำอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคำพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดของเรื่องที่เธอกล่าวกับดัมเบิลดอร์ในร้านหัวหมู ซึ่งคำพยากรณ์นั้นถูกเก็บไว้ในกองปริศนา กระทรวงเวทมนตร์ (รายละเอียดอยู่ในเล่มที่ 5 ตอนภาคีนกฟีนิกซ์) นอกจากนี้ จากหลายๆเหตุการณ์ที่เธอเข้าไปเกี่ยวข้องพอจะบอกได้ว่า ทรีลอว์นีย์จะเน้นไปในทางการพยากรณ์ที่ไม่ใช้โหราศาสตร์มากกว่า (เธอมักจะกล่าวอ้างถึงญาณวิเศษหรือตาพยากรณ์ของเธออยู่เสมอ) พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรีลอว์นีย์เน้นการพยากรณ์ในแนวทางพรหมลิขิต (Fate) คือโชคชะตาถูกลิขิตไว้เรียบร้อยแล้ว

firenze

นอกจากศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ แล้ว ยังมีอาจารย์อีกคนหนึ่งที่สอนวิชาพยากรณ์ศาสตร์ นั่นคือ ฟีเรนซี (Firenze) ผู้ซึ่งเป็นเซนทอร์ (Centaur) หรือสัตว์ที่มีส่วนล่างเป็นม้า ส่วนบนเป็นมนุษย์ อีกนัยหนึ่งก็คือราศีธนูในจักรราศีนั่นเอง ฟีเรนซีสอนวิชาพยากรณ์ศาสตร์โดยเน้นไปในทางโหราศาสตร์ ให้นักเรียนดูดวงดาวจริงๆ ตอนหนึ่งฟีเรนซีกล่าวว่า

“ฉันรู้ว่าพวกเธอได้เรียนชื่อของดาวเคราะห์ต่างๆและดวงจันทร์ของดาวเหล่านั้นในวิชาดาราศาสตร์ แล้วเธอยังทำแผนที่การโคจรไปบนสรวงสวรรค์ของดวงดาวทั้งหลายด้วย เซนทอร์สามารถไขปริศนาของการโคจรเหล่านี้ได้นานหลายศตวรรษมาแล้ว การค้นพบของเราสอนเราว่าอนาคตนั้นสามารถมองเห็นได้จากท้องฟ้าเบื้องบน”

ที่น่าสนใจมากกว่านั้น ก็คือการที่ฟีเรนซีบอกว่า บางครั้งเซนทอร์ก็อ่านสัญญาณต่างๆผิดพลาดได้ ดังนั้น เรื่องสำคัญที่เขาต้องการทำไม่ใช่สอนสิ่งที่เขารู้ให้พวกนักเรียน แต่เป็นการปลูกฝังพวกเขาว่า ไม่มีอะไรเลย แม้กระทั่งความรู้ของพวกเซนทอร์ ที่ไม่มีที่ผิดเลย เรื่องนี้ก็ข้อคิดที่ดีสำหรับนักโหราศาสตร์ว่า อย่าไปยึดมั่นกับคำพยากรณ์จนมากเกินไป หลายๆครั้ง นักโหราศาสตร์เองเป็นผู้แปลความหมายดวงดาวผิดพลาด เรื่องนี้ผมมองว่าคล้ายๆกับศาสตร์อื่นๆ เช่น การแพทย์ ที่การวินิจฉัยโรคใดๆที่เป็นเรื่องสำคัญ คนไข้ควรที่จะได้รับความเห็นที่ 2 จากแพทย์คนอื่น (Second Opinion) มาประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น ดังนั้น หากจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจ ผมแนะนำว่าควรปรึกษาจากนักโหราศาสตร์มากกว่า 1 ท่าน เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

ในทางโหราศาสตร์ เซนทอร์เป็นตัวแทนของราศีธนู มาจากเซนทอร์ที่ชื่อว่า ไครอน ผู้เปรื่องปราด เชี่ยวชาญวิชาการต่างๆ ทั้งดนตรี เภสัชกรรม การยิงธนู การใช้สมุนไพรทำยา ฯลฯ ที่สำคัญยังเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษในตำนานกรีก-โรมันที่สำคัญๆ เช่น อคีลิส เฮอร์คิวลีส เจสัน พีลูส อีเนียส เป็นต้น ต่อมา มหาเทพซีอุสได้บันดาลให้ไครอนกลายเป็นกลุ่มดาวรูปเซ็นทอร์ถือธนูอยู่บนท้อง ฟ้า เรียกว่า กลุ่มดาวแซชจิเตเรียส (Sagittarius) หรือกลุ่มดาวประจำราศีธนูนั่นเอง ความหมายของราศีธนู หมายถึง นักวางแผน ผู้มองการณ์ไกล เป็นคนที่มองภาพใหญ่มากกว่าจะสนใจภาพย่อย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ฟีเรนซีจะกล่าวว่า “แต่ส่วนใหญ่เธอเสียเวลาไปเปล่าๆกับเรื่องไร้สาระเพื่อเยินยอตัวเองที่มนุษย์เรียกขานกันว่า การทำนายโชคชะตา แต่ฉันเอง มาที่นี่เพื่ออธิบายถึงปัญญาของพวกเซนทอร์ ซึ่งไม่ได้หมายความเจาะจงที่ใครคนใดคนหนี่งและไม่เข้าข้างใครเลย เราเฝ้าดูฟากฟ้าเพื่อหาแนวโน้มของความชั่วร้ายหรือการเปลี่ยนแปลงที่บาง ครั้งบางคราว ได้จารึกไว้บนนั้น อาจต้องใช้เวลาถึงสิบปีที่จะแน่ใจว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นคืออะไร” นี่เป็นอีกครั้งที่เจ.เค.ซ่อนความหมายของจักรราศีไว้ในตัวละครของเธออย่างแนบเนียน

ชื่อตัวละครและความหมายแฝง

อัจฉริยภาพของเจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้แสดงออกมาให้เห็นส่วนหนึ่งจากการตั้งชื่อตัวละครต่างๆ ที่แฝงความหมายจากตำนานเทพนิยายและดาราศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างแยกไม่ออก เริ่มจาก ชื่อของอาจารย์ประจำวิชาพยากรณ์ศาสตร์ ศาสตราจารย์ซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ (Sibyll Trelawney) คำว่า “ซีบิลล์ (Sibyll)” มาจากภาษาละติน แปลว่า นักพยากรณ์ ลักษณะการพยากรณ์ของซีบิลล์จะอยู่ในรูปแบบของการถ่ายทอดคำพยากรณ์จากพระเจ้า หรือเทพเจ้ามาสู่มนุษย์ เช่นจากเทพอพอลโล ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคนมาปรึกษาหรือสอบถาม ลักษณะก็คงตรงกับศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ ที่มักพยากรณ์อนาคตให้นักเรียนทั้งๆที่ไม่มีใครถาม ในตำนานซีบิลล์ที่มีชื่อเสียงมีอยู่หลายคน แต่ที่โด่งดังมากมีอยู่ 3 คน ได้แก่ Delphic Sibyl ที่พยากรณ์ในอำนาจแห่งเทพอพอลโล ณ วิหารเดลฟี เชิงเขา Parnassus ประเทศกรีซ, Erythraean Sibyl ผู้พยากรณ์การเกิดสงครามกรุงทรอย, และ Cumaean Sibyl ผู้พยากรณ์การมาของพระเยซู

บรรพบุรุษของศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ (Grand-great-grandmother) ชื่อว่า คาสซานดร้า (Cassandra) เป็นแม่มดที่เป็นนักพยากรณ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคของเธอ ซึ่งชื่อของเธอก็ตรงกับคาสซานดร้า ธิดาของท้าวเพรียม ผู้ซึ่งมีความสามารถในการพยากรณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ ในตำนานสงครามเมืองทรอย เธอได้พยากรณ์ผลของสงครามกรุงทรอยได้อย่างถูกต้อง และเตือนไม่ให้ชาวทรอยนำม้าไม้ (Trojan horse) เข้ามาในเมือง แต่เทพอพอลโลสาปไว้ไม่ให้มีใครเชื่อคำพยากรณ์ของเธอ ในที่สุดเมืองทรอยก็ล่มสลาย

อาจารย์อีกท่านหนึ่งในฮอกวอตส์ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำบ้านกริฟฟินดอร์ คือศาสตราจารย์ มิเนอร์ว่า มักกอนนากัล (Minerva McGonagall) คำว่า มิเนอร์ว่า นั้นเป็นชื่อโรมันของเทพีอธีนาซึ่งเป็นชื่อกรีก เทพีมิเนอร์ว่าเป็นเทพีผู้ครองปัญญาและวิทยาการ ทำให้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆมักนำรูปของเธอเป็นตราสัญลักษณ์, อนุสาวรีย์ หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น La Sapienza University ในโรม, Columbia University สหรัฐอเมริกา, University of Lincoln สหราชอาณาจักร ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ชื่อของเธอยังเป็นที่มาของเมืองเอเธนส์ (Athena => Athens) อีกด้วย ในฐานะที่ชนะเทพเจ้ามาร์สในการแข่งขัน ศาสตราจารย์มักกอนนากัลก็มีบุคลิกตรงกับเทพีมิเนอร์ว่าอยู่มาก เนื่องจากเป็นคนฉลาด มีความเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงในด้านการต่อสู้ก็ไม่แพ้ใคร ทำให้สามารถรับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทนศาสตราจารย์ดับเบิลดอร์ได้อย่างเหมาะสม

พ่อบุญธรรมของแฮร์รี่ คือ ซิเรียส แบล็ก (Sirius Black) ชื่อซิเรียส มาจากชื่อของดาวฤกษ์ซิริอุส (Sirius) ซึ่งเป็นดาวที่สุกสว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) ในเรื่องนี้ เจ.เค.โรว์ลิ่ง นำมาใช้อย่างแนบเนียนด้วยการให้ซิเรียสแปลงร่างเป็นสุนัขดำ และใช้นามแฝงในกลุ่มเพื่อนว่า เท้าปุย (Padfoot) นั่นเอง

เดรโก มัลฟอย นักเรียนร่วมรุ่นของแฮร์รี่ ชื่อของเขา เดรโก (Draco) ก็จะตรงกับกลุ่มดาวมังกร (Draco) ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (กลุ่มดาวนี้มักถูกเรียกสับสนกับกลุ่มดาวในแถบจักรราศีที่เรียกว่า มกร เพราะมังกรหมายถึงงูใหญ่ ส่วนมกรหมายถึงแพะภูเขา ซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นในโหราศาสตร์จะมีแต่ราศีมกรเท่านั้น ไม่มีราศีมังกร) กลุ่มดาวมังกรก็หมายถึงงูใหญ่ ซึ่งก็ตรงกับสัญลักษณ์ของบ้านสลิธีริน ที่เดรโก มัลฟอย สังกัดอยู่

เพื่อนอีกคนหนึ่งของแฮร์รี่ที่มีบุคลิก แปลกๆ นั่นคือ ลูน่า เลิฟกู๊ด (Luna Lovegood) หรือเลิฟกู๊ดสติเฟื่องนั่นเอง คำว่า ลูน่า (Luna) นั้นหมายถึงพระจันทร์ในภาษาละติน ซึ่งในตำนานกรีกหมายถึงเทพีซีลีนี ผู้ลึกลับและนำเราไปสู่ห้วงจินตนาการเพื่อเปิดเผยความจริง บ่งบอกถึงด้านในของชีวิตบทความ ไพ่ยิปซีจักรราศี ความหมายคล้ายคลึงกับบุคลิกของลูน่าที่มักจะมองโลกด้วยแง่มุมแปลกๆ เต็มไปด้วยจินตนาการ และเชื่อว่าทุกเรื่องมีความลี้ลับซ่อนอยู่ ทำให้ค่อนข้างแปลกแยกจากคนอื่น ไม่ค่อยมีใครกล้ามาคุยด้วย

พรหมลิขิตหรือกรรมลิขิต

นวนิยาย เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้แตะประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในโหราศาสตร์ นั่นคือ พรหมลิขิต หรือ กรรมลิขิต (Fate or Freewill) ในอดีต มักมีความเชื่ออยู่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่กำเนิดแล้ว ดังนั้น เหตุการณ์ต่างๆในชีวิตมนุษย์จะสามารถบอกได้อย่างชัดเจนจากดวงชะตากำเนิด มนุษย์ไม่สามารถฝืนชะตาฟ้าลิขิตไปได้ ทัศนคตินี้ยังคงฝังรากลึกในความเชื่อของคนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อลักษณะนี้เรียกได้ว่า “เชื่อในพรหมลิขิต (Fate)”

อย่างไรก็ตาม โหราศาสตร์แนวใหม่ โดยเฉพาะโหราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ ดังเช่น โหราศาสตร์ยูเรเนียน มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่า มนุษย์มีทางเลือก และสามารถเลือกดำเนินชีวิตตามความต้องการของแต่ละคนได้ แต่คงอยู่ในภายใต้กรอบของกฎแห่งกรรม ดังนั้น โหราศาสตร์ในแนวคิดจึงเป็นเพียงเครื่องมือในการบอกแนวโน้มของชีวิต ซึ่งมนุษย์สามารถนำไปประกอบในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตต่อไป ความเชื่อนี้ผมขอเรียกว่า “เชื่อในกรรมลิขิต (Freewill)”

นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวถึงเรื่องนี้หลายตอน เช่นในเล่มที่ 2 ตอนห้องแห่งความลับ บทที่ 18 แฮร์รี่ได้ถามศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ว่า หมวกคัดสรรบอกว่าแฮร์รี่จะทำได้ดีทีเดียวถ้าอยู่บ้านสลิธีริน เพราะพูดภาษาพาร์เซลได้ (ภาษาที่พูดคุยกับงู) อีกทั้งได้รับถ่ายทอดพลังบางอย่างจากโวลเดอมอร์ในคืนที่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้แฮร์รี่ รวมถึงมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ซัลลาซาร์ สลิธีริน ผู้ก่อตั้งบ้านสลิธีรินให้ความสำคัญมาก แล้วทำไมหมวกยังส่งแฮร์รี่ไปอยู่บ้านกริฟฟินดอร์ คำตอบก็คือ แฮร์รี่เลือกที่จะไม่ไปอยู่บ้านสลิธีรินนั่นเอง ดัมเบิลดอร์ได้สรุปว่า สิ่งที่ทำให้แฮร์รี่แตกต่างจากโวลเดอมอร์ นั่นคือ การเลือกของคนเรานั่นเองที่จะแสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วเราเป็นคนอย่างไร ยิ่งไปเสียกว่าความสามารถของเรามากนัก

อีกตอนหนึ่งในเล่มที่ 5 ตอนภาคีนกฟีนิกซ์ บทที่ 37 เมื่อดัมเบิลดอร์ได้ให้แฮร์รี่ได้ฟังคำพยากรณ์ของซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ว่า

crystalball

“ผู้มีอำนาจจะปราบเจ้าแห่งศาสตร์มืดใกล้เข้ามาแล้ว… เกิดกับคนที่ท้าทายเขา ถึงสามหน เกิดเมื่อเดือนที่เจ็ดวางวาย… และเจ้าแห่งศาสตร์มืดจะทำเครื่องหมายเขาในฐานะผู้เท่าเทียม แต่เขานั้นจะมีอำนาจที่เจ้าแห่งศาสตร์มืดหารู้จักไม่… และคนหนึ่งจะต้องตายด้วยน้ำมือของอีกคน เพราะทั้งสองจะไม่อาจอยู่ได้ถ้าอีกคนยังอยู่รอด”

ตอนที่โวลเดอมอร์ได้ยินคำพยากรณ์นี้จากบริวารของเขา เขาได้ยินเพียงแค่ถึงตอนที่ว่า เกิดเมื่อเดือนที่เจ็ดวางวาย เท่านั้น ซึ่งเด็กที่เกิดวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม และเกิดกับพ่อแม่ที่ได้ท้าทายโวลเดอมอร์มาแล้วสามครั้ง มีอยู่ 2 คน นั่นคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเนวิลล์ ลองบอตทอม อย่างไรก็ดี โวลเดอมอร์นั่นเองเป็นผู้เลือกที่จะทำเครื่องหมายเขาในฐานะผู้เท่าเทียมกับ แฮร์รี่ ไม่ใช่เนวิลล์ นี่เป็นอีกครั้งที่การเลือกของมนุษย์ส่งผลมากกว่าคำพยากรณ์เพียงอย่างเดียว

ตอนที่ผมชอบมากอีกตอนหนึ่งอยู่ในเล่มที่ 6 ตอนเจ้าชายเลือดผสม บทที่ 23 ตอนนี้ดัมเบิลดอร์พยายามที่จะสอนให้แฮร์รี่เข้าใจถึงอำนาจที่เจ้าแห่งศาสตร์มืดหารู้จักไม่ นั่นคือ ความรัก ดัมเบิลดอร์พูดตอนหนึ่งว่า

“แต่แฮร์รี่ อย่าลืมเด็ดขาดว่า สิ่งที่คำพยากรณ์บอกจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อโวลเดอมอร์ทำให้มันเป็นไป ดังนั้น ฉันบอกเธอเรื่องนี้แล้วเมื่อปลายปีก่อน โวลเดอมอร์เจาะจงเลือกว่าเธอคือคนที่จะเป็นอันตรายต่อเขามากที่สุด และเมื่อทำเช่นนั้น เขาทำให้เธอกลายเป็นคนที่อันตรายต่อเขามากที่สุด!”

จากนั้นดัมเบิลดอร์พยายามที่จะสอนให้แฮร์รี่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกที่จะทำ มากกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามคำพยากรณ์อย่างเดียว

“แน่นอน เธอต้องทำ! แต่ไม่ใช่เพราะคำพยากรณ์! เพราะเธอ ตัวเธอเองนั่นละ จะไม่มีวันหยุดจนกว่าเธอจะได้พยายามทำ! ..”

“..เธอเป็นอิสระที่จะเลือกทางของเธอเอง อิสระที่จะหันหลังให้คำพยากรณ์นั่นได้! ..”

ตอนท้ายของบท แฮร์รี่ก็เข้าใจว่า มันมีความแตกต่างกันระหว่างการถูกลากตัวเข้าไปในสังเวียนเพื่อเผชิญหน้าการต่อสู้ที่ถึงตาย กับการเดินเข้าไปในสังเวียนด้วยหัวที่เชิดสูง บางคนอาจจะพูดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนักที่ได้เลือกระหว่างทางทั้งสองนี้ แต่ดัมเบิลดอร์และแฮร์รี่ต่างก็รู้ว่า นั่นคือความแตกต่างทั้งมวลในโลกนี้

ในนวนิยายเรื่องนี้ หลายๆ ตอนมักทำให้คนอ่านรู้สึกว่าวิชาพยากรณ์ศาสตร์เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่น่าเชื่อ จากบุคลิกที่น่าขบขันของศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ อย่างไรก็ดี เจ.เค.โรว์ลิ่งกลับเขียนให้เป็นไปว่า คำพยากรณ์สำคัญหลายๆครั้งของทรีลอว์นีย์กลับมีความแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับผมแล้ว ผมว่าประเด็นที่เจ.เค.พยายามจะสื่อให้คนอ่านรับรู้ก็คือ ไม่ว่าคำพยากรณ์จะเป็นอย่างไร มนุษย์นั่นเองที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่คำพยากรณ์ ความแตกต่างระหว่างการเลือกที่จะทำ กับการทำตามคำพยากรณ์ที่คนอื่นบอก สร้างผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมาก แน่นอนการเลือกเองของมนุษย์ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ประเด็นนี้เองที่ผมรู้สึกว่าคือหัวใจของนวนิยายเด็กเรื่องนี้

บทความนี้เพื่อ มักเกิ้ล วิลเลจ!!!


Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426

Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426

Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426