บทสัมภาษณ์ เจ.เค.โรว์ลิ่ง โดย สตีเฟน ฟราย (26 มิถุนายน 2003)

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นเอกสารเก่า ที่ได้มาจากเว็บไซต์ Nanmeebooks.com เมื่อนานมาแล้ว เลยขออนุญาตเก็บรวบรวมไว้อ่านเล่นนะครับ ซึ่งเป็นบันทึกการสัมภาษณ์ เจ.โค.โรว์ลิ่ง โดย สตีเฟ่น ฟราย ที่รอยัลอัลเบิร์ตฮอล วันที่ 23 มิถุนายน 2003 ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่เป็นเพียงบางส่วนที่คัดออกมาเป็นสาระน่าสนใจครับ

———————————————–

 

อย่าเพิ่งอ่านเล่มห้า ถ้ายังไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้!

อ.สุมาลี อุตส่าห์วางมือจากการแปล Harry Potter and the Order of the Phoenix ชั่วคราว เพื่อไปร่วมงานที่รอยัลอัลเบิร์ตฮอล ทำให้บทสัมภาษณ์พิเศษระหว่างสตีเฟน ฟราย และ เจ.เค. มาปรากฏแก่สายตาแฟนนิตยสาร เล่มโปรด อย่างมหัศจรรย์

 

Stephen Fry : ปกติแล้ววันหนึ่ง เขียนหนังสือยังไงครับ

JK Rowling : แต่เดิมจะไปนั่งเขียนที่ร้านกาแฟค่ะ ชอบเขียนท่ามกลางผู้คน การเขียนเป็นงานที่โดดเดี่ยว เหมือนอยู่ตามลำพัง ฉันถึงชอบอยู่ท่ามกลางคนเยอะ ๆ ไม่ชอบเขียนที่บ้าน แต่ตอนนี้ต้องนั่งเขียนที่บ้าน เพราะว่าถ้าไปที่ร้านกาแฟ จะมีคนมาทักอยู่เรื่อยว่า คุณคือคนเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ใช่ไหม ทุกวันนี้ พอส่งเจสสิกาไปโรงเรียนเสร็จ ก็จะเริ่มเขียนหนังสือ ตอนเขียนจะไม่ฟังเพลงอะไรเลย ตอนนี้ใช้คอมพิวเตอร์บ้างแล้ว จะเขียนด้วยปากกาแล้วค่อยพิมพ์ และจะหยุดเขียนเมื่อเจสสิก้ากลับถึงบ้านค่ะ

 

เด็กจากบราซิล : เขียนหนังสือตอนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยากไหมครับที่รู้ว่ามีคนรออ่านเยอะแยะ

JK Rowling : ไม่ยากค่ะ ก็เขียนไปเรื่อย ๆ แต่ต้องยอมรับว่าตอนมีชื่อเสียงแตกต่างจากตอนหนังสือออกใหม่ ๆ ไปอ่านหนังสือให้คนฟัง ปรากฏว่ามีคนมาฟังสองคน และสองคนนั้นพอเริ่มงาน ก็รู้ตัวว่ามาผิดงาน ไม่ได้ตั้งใจมาฟังหรอก แต่ตั้งแต่มีชื่อเสียง หนังสือโด่งดัง มีคน มาฟังมากอย่างที่ไม่เคยคาดฝันเลย คนอ่านในสหรัฐอเมริกาจะแต่งตัวแฟนซีมาร่วมฟังด้วย ที่จำได้แม่นคือผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวเป็นสุภาพสตรีอ้วน สวมชุดสีชมพูสวยมากเลย แถมมีกรอบรูปติดตัวมาด้วย

 

เด็กจากอังกฤษ : ทำยังไงถึงจะเป็นนักเขียนที่เก่งได้คะ

JK Rowling : อ่านหนังสือมาก ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนแรกจะเขียนเลียนแบบนักเขียนที่ตัวเองชอบก็ไม่เป็นไร เป็นวิธีฝึกหัดอย่างหนึ่ง แล้วจะพัฒนาการเขียนของตัวเองไปเอง

 

เด็กจากซีแอตเติล สหรัฐ : ตัวละครตัวไหนที่คุณจะคิดถึงมากที่สุด เมื่อเขียนเรื่องชุดนี้จบแล้ว

JK Rowling : ก็ต้องแฮร์รี่ แน่นอน เพราะเป็นตัวละครที่เริ่มเรื่องและนำเรื่องต่าง ๆ เป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง เป็นตัวละครแรกที่โผล่ขึ้นมาในสมองตอนที่ฉันนั่งรถไฟไปแมนเชสเตอร์ เห็นภาพเด็กชายอายุ 11 ปีที่เป็นพ่อมดแต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นพ่อมด แล้วคิดตัวละครและโครงเรื่องอื่น ๆ ตามมา ตัวละครส่วนใหญ่ชื่อจะมีความหมายด้วย เช่น เดรโก มัลฟอย ชื่อ มัลฟอย ดัดแปลงจากภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า ความเชื่อที่ไม่ดี คิดเรื่องคติพจน์ประจำโรงเรียนด้วย ภาษาละติน ซึ่งหมายความว่า อย่าแหย่มังกรหลับ

 

Stephen Fry : ถ้าแฮร์รี่ โตขึ้นคงมีเรื่องน่าสนใจมากขึ้น อย่างเช่น แฮร์รี่ ต้องคิดว่าเรื่องไหนจะยากกว่า กัน… สู้กับลอร์ดโวลเดอมอร์ หรือ จูบโช

JK Rowling : (หัวเราะ) อ่านเล่มห้า นี่ก็คงจะรู้ค่ะ แต่ไม่อยากพูดมาก เท่าที่เขียนนี่จะเห็นว่าเมื่อแฮร์รี่โตขึ้น ชีวิตจะสับสนซับซ้อนมากขึ้น จากโลกของมักเกิ้ลมาอยู่โลกของพ่อมดแม่มด จะเห็นว่าโลกเวทมนตร์ก็เหมือนโลกมนุษย์ที่มีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกัน แม้ว่าจะอยู่ในโลกเวทมนตร์ ก็ไม่สามารถใช้คาถาแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างความดีความชั่วได้ง่าย ๆ

 

เด็กจากอังกฤษ : คิดตัวละครร้าย ๆ ในหนังสือได้ยังไงครับ

JK Rowling : ก็ดูจากคนที่เรารู้จักที่ไม่ดี เดรโก หรือ แพนซี่ ก็เห็นอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่ที่เลวมาก ๆ อย่างลูเซียสนี่ หาได้ยากหน่อย

 

Stephen Fry : ตัวละครอย่างสเนปค่อนข้างซับซ้อน ไม่เห็นชัดเจนว่าดีหรือชั่ว เป็นคนที่อ้างว้าง โดดเดี่ยวมาก จนทำให้สร้างกำแพงป้องกันตัวเอง และกลายเป็นคนใจแข็งใจดำ

JK Rowling : สเนปเป็นตัวละครที่น่าสนใจมาก แต่ขอเตือนว่าต้องคอยจับตาดูสเนปนะ เขาไม่ใช่คนที่น่ารักนักหรอก

 

Stephen Fry : แฮร์รี่ มักต้องเผชิญกับความไม่ยุติธรรม ถูกเข้าใจผิดอยู่เรื่อย ดัมเบิลดอร์ ต้องคอยช่วย

JK Rowling : แฮร์รี่ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ดัมเบิลดอร์ฉลาด เขารู้ว่าแฮร์รี่ต้องเรียนหนัก ต้องเผชิญชีวิตและแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสู้กับภัยในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน ดัมเบิลดอร์รู้ว่าเขาจะปกป้องแฮร์รี่ ไม่ได้ตลอดไป ต้องยอมถอยกลับมาด้วย เพื่อให้แฮร์รี่ได้เรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเอง

 

เด็กจากเกาหลี : คุณเชื่อหรือเคยใช้เวทมนตร์คาถาบ้างไหม

JK Rowling : รู้ว่าตอบแบบนี้แล้ว เด็ก ๆ คงผิดหวังกัน แต่ฉันไม่เชื่อค่ะ และไม่เคยใช้เวทมนตร์คาถาแบบที่เขียนในหนังสือเลย แต่เชื่อเรื่องอำนาจวิเศษของจินตนาการ และความรักว่าจะทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ได้ และจะเห็นว่าในเรื่อง แฮร์รี่แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยความกล้าหาญ อาศัยมิตรภาพ ไม่ได้เก่งเรื่องเวทมนตร์จนเอาชนะโวลเดอมอร์ได้ แต่ชนะได้เพราะโวลเดอมอร์ไม่มีพลังอำนาจแบบที่แฮร์รี่มี พลังที่ทำให้แฮร์รี่เติบโตขึ้น

 

เด็กในหอประชุม : ถ้ามีเวทมนตร์ คุณจะเสกคาถาอะไรครับ

JK Rowling : จะเสกคาถาไม่ให้คนเห็นเราค่ะ จะได้ไปนั่งเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟได้

 

Stephen Fry : ความคิดเรื่องเลือดบริสุทธิ์นี่น่าสนใจมาก ได้มาจากไหนครับ

JK Rowling : มันเป็นแก่นของสังคมด้วย มัลฟอย ดูถูกมักเกิ้ลตั้งแต่แรก คนกลัวลูปินเพราะว่าโรคติดต่อ ฉันชอบตัวลูปินมาก เขาเป็นคนดี เป็นครูที่ดีมากด้วย อย่างมักกอนนากัล ยังเข้มงวดเกินไป ลูปินเป็นตัวอย่างของครูที่ฉันอยากให้มี

 

Stephen Fry : มีตัวละครที่ตายด้วยใช่ไหมครับในเล่ม 5 ทำไมต้องเขียนให้คนตายด้วยล่ะ

JK Rowling : รู้สึกแย่เหมือนกันค่ะ เศร้ามากเมื่อเขียนตอนที่ตัวละครนั้นตาย แต่ต้องทำ ต้องเขียน เพราะต้องการให้เด็ก ๆ รู้ถึงความไม่แน่นอน ไม่มีหลักประกันอะไรของชีวิต ไม่มีการเตือนล่วงหน้าว่าจะสูญเสียใครไป ไม่มีการนอนป่วยบนเตียงนาน ๆ ให้ได้เตรียมใจ นาทีหนึ่งกำลังคุยกันอยู่ดี ๆ อีกนาทีก็ตายไปซะแล้ว เด็ก ๆ อาจตกใจ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ คนเราต้องตาย และต้องการให้รู้ว่ามีความหมายอย่างไรกับชีวิตของแฮร์รี่ด้วย

 

Stephen Fry : ตัวละครใหม่เล่มนี้ ลูน่า น่าสนใจดีครับ

JK Rowling : ลูน่าเป็นตัวละครที่ชอบมากค่ะ สนุกที่จะเขียนถึงตัวละครนี้ ถือว่าเป็นคนที่ตรงข้ามกับเฮอร์ไมโอนี่มาก เฮอร์ไมโอนี่เป็นคนที่ไม่ยืดหยุ่นนัก ลูน่าพร้อมที่จะเชื่อเรื่องทุกอย่างอยู่เสมอ ส่วนครูคนใหม่ศาสตราจารย์อัมบริดจ์นี่ไม่ชอบเลย มีคนอ่านบอกว่ายายคนนี้ทำให้ฉันโกรธมากเลยนะ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะเป็นตัวละครที่คนแต่งเองก็เกลียดมาก

 

เด็กในหอประชุม : แฮร์รี่เคยเห็นคนตายมาก่อนจะเห็นเซดริกตาย ทำไมเขาถึงไม่เห็นสัตว์ประหลาดที่ลากรถม้าของโรงเรียนมาก่อนล่ะคะ ทำไมถึงเพิ่งมาเห็นในเล่มห้านี้

JK Rowling : เป็นคำถามที่ห่วงอยู่แล้วว่าต้องมีคนถาม ต้องอธิบายหน่อยนะคะ สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านเล่มห้าหรืออ่านยังไม่ถึง ปีก่อน ๆ แฮร์รี่มองเห็นรถม้าของโรงเรียนว่าแล่นไปได้ด้วยตัวเอง ที่แท้แล้วมีสัตว์ประหลาด ที่เรียกว่าเธสตรอล (Thestral) เป็นตัวลากไป เธสตรอลมีคุณสมบัติประหลาดอย่างหนึ่งคือ คนที่เคยเห็นคนตายมาแล้วเท่านั้น ถึงจะเห็นมันได้ อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ค่ะ เมื่อเขียนแล้วก็รู้ว่าเด็ก ๆ ต้องสงสัยแน่ เพราะว่าแฮร์รี่ เคยเห็นภาพพ่อแม่ตายตอนเขาเล็ก ๆ หรือควีเรลล์ตาย แต่ภาพนั้นไม่ชัดเจนและสะเทือนอารมณ์รุนแรงเหมือนตอนที่เห็นเซดริกตาย เขาสะเทือนอารมณ์มากถึงได้เห็นเธสตรอล

 

Stephen Fry : พอมีชื่อเสียงแล้ว มีแรงกดดันให้ต้องเปลี่ยนโครงเรื่องบ้างไหม ความมีชื่อเสียงมีผลอะไรต่อโครงเรื่องหรือเปล่าครับ อย่างบทบาทของนักข่าวริต้า

JK Rowling : ยอมรับว่าความมีชื่อเสียงทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปบ้างค่ะ เลิกไปเขียนที่ร้านกาแฟ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงเรื่องอะไร เพราะตอนที่วางโครงเรื่องไว้นั้น รู้แล้วว่าแฮร์รี่จะต้องผจญกับการมีชื่อเสียงมีคนพูดเรื่องของเขามาตั้งสิบ เอ็ดปีโดยที่เขาไม่รู้เรื่องเลย แฮร์รี่จึงรู้สึกกดดันจากการมีชื่อเสียงด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อฉันมีชื่อเสียงขึ้นมา ก็รู้สึกสนุกขึ้นที่จะเขียนถึงบทบาทของริต้า มันดีค่ะ

 

เด็กจากอังกฤษ : ถ้าส่องกระจกเงาแห่งแอริแซด คุณจะเห็นภาพอะไรคะ

JK Rowling : คงจะเห็นภาพของตัวเองอย่างเดี๋ยวนี้นี่แหละ ภาพฉันกับครอบครัวแล้วก็มีลูกเพิ่มอีกคน เห็นแม่ยังมีชีวิตอยู่ อ้อ! แล้วก็เห็นบุหรี่แบบใหม่ที่สูบแล้วปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย

 

เด็กจากอิสราเอล : แฮร์รี่ฟังเพลงแบบไหนฮะ

JK Rowling : แฮร์รี่ไม่ได้ฟังเพลงแม่มดพ่อมดมากนักหรอกค่ะ เขาเพิ่งรู้จักวง The Weird Sisters ที่โรงเรียนจ้างมาเล่นวันงานเต้นรำ ที่มีเครื่องดนตรีแปลก ๆ ผสมกัน ก็คงถือว่าวงนี้เป็นวงดนตรีที่เขาชอบก็ได้ สำหรับฉัน ฉันชอบ The Beatles ค่ะ

 

เด็กจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย : ทำไมไม่เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต่อไปอีก ตอนที่เขาโตและจบจากฮอกวอตส์แล้ว

JK Rowling : รู้ได้อย่างไรว่าแฮร์รี่ จะรอดชีวิตจนจบจากโรงเรียน แต่ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า แฮร์รี่ จะไม่โตเป็นผู้ใหญ่นะ แต่ไม่อยากให้คนอ่านคิดง่าย ๆ ว่าแฮร์รี่ ต้องรอดชีวิต ไม่ตอบมากกว่านี้ล่ะ ไม่อยากบอกโครงเรื่องต่อ ๆ ไป

 

เด็กจากอังกฤษ : ตอนเด็ก ๆ คุณชอบอ่านหนังสืออะไรคะ

JK Rowling : ชอบอ่านของอี. เนสบิต ซี. เอส. ลิวอิส อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเลยค่ะ อ่านแม้แต่ ด้านหลังกล่องอาหารเช้า

 

เด็กจากเอดินเบอระ : ถ้าคุณเป็นครูที่ฮอกวอตส์ จะสอนวิชาอะไรคะ

JK Rowling : คงสอนวิชาคาถาเวทมนตร์คาถาค่ะ เพราะเบาหน่อย ไม่สอนวิชาแปลงร่าง เพราะยากมาก ต้องใช้ความแม่นยำเยอะ

 

เด็กในหอประชุม : ในที่สุดสเนปจะได้เป็นครูสอนวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดไหมครับ

JK Rowling : เป็นคำถามที่ดีมากค่ะ แต่ต้องตอบอย่างระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้น จะทำให้รู้เรื่องตอนต่อไป อย่างนี้ก็แล้วกัน ตอนสเนปมาสมัคร และบอกว่าอยากสอนวิชานี้ ดัมเบิลดอร์บอกว่า ให้สอนวิชาปรุงยาดีกว่า เพราะว่าวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด อาจทำให้สิ่งที่แย่ที่สุดในตัวสเนป ผุดขึ้นมาได้

 

Stephen Fry : เล่มห้านี้ยาว 766 หน้า ยาวมาก ทำไมต้องยาวขนาดนี้ด้วย

JK Rowling : ตอนเขียนก็ไม่รู้ว่าจะยาวแบบนี้ แต่ต้องใส่รายละเอียดบางอย่างไว้ด้วย เพราะว่าจะมีผลต่อไปในเล่มที่ 6 และ 7 ถ้าไม่บอกไว้ก่อน ผู้อ่านจะบ่นว่าไม่ให้เงื่อนงำล่วงหน้าไว้เลย