เจ.เค. โรว์ลิ่ง ให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับมูลนิธิลูมอส (Lumos Foundation) ความกลัวที่สุดของเธอ และหนังสือสำหรับเด็กที่ยังไม่ได้ถูกตีพิมพ์

การสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของเจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) กับ CNN ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมองค์กรการกุศลลูมอส และสนทนาเรื่องงานเขียนของเธอ รวมถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วย

โรว์ลิ่งกล่าวถึงหนังสือเกี่ยวกับการเมืองสำหรับเด็กที่เธอเคยเกริ่นไว้เมื่อปีก่อนๆ และโอกาสที่แทบจะไม่มีในการนำไปตีพิมพ์ เธอยังให้ความเห็นเกี่ยวกับนามปากกาของตัวเอง – เจ.เค. โรว์ลิ่ง – และให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ใช้ชื่อจริง [ซึ่งคือชื่อในทะเบียนสมรสของเธอ โจแอนน์ เมอร์เรย์ (Joanne Murray)]

รับชมคลิปสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ที่คลิปด้านล่างนี้

คลิปต่อจากนี้คัดมาเฉพาะข้อมูลสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการสัมภาษณ์ ซึ่งได้ตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป คือส่วนของ
– เจ.เค. เขียนบทภาพยนตร์ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ภาค 2” เสร็จเรียบร้อยแล้ว
– ดร.นีล เมอร์เรย์ สามีของเธอเดินทางไปยังประเทศมอลโดวาในพันธกิจของลูมอสเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กยากไร้ เจ.เค.เล่าว่าดร.เมอร์เรย์ตกใจมากเมื่อได้เห็นสภาพของเด็กๆ ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์และตั้งใจจะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างสุดความสามารถ

https://www.youtube.com/watch?v=0SfAGFRGcPQ

Christiane Amanpour: ฉันอ่านเจอมาว่าคุณเคยคิดที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองสำหรับเด็ก ใช่ไหมคะ?
โรว์ลิ่ง: โอ้ นั่นเป็นเรื่องโกหกค่ะ

แต่ฉันจะเล่าอะไรให้คุณฟัง ฉันจัดงานฉลองวันเกิดปีที่ 50 (ซึ่งจัดขึ้นในวันฮาโลวีน ถึงแม้มันจะไม่ใช่วันเกิดจริงๆ ของฉัน) ธีมงานคือ ‘ฝันร้ายของคุณ’ แล้วฉันก็โผล่ไปที่งานในชุด ‘ต้นฉบับที่หายสาบสูญ’ ฉันเขียนเนื้อหาของหนังสือลงไปบนชุดทั้งชุด หนังสือเล่มนั้นฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันจะถูกตีพิมพ์หรือเปล่า อันที่จริงตอนนี้มันถูกแขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้าค่ะ

Amanpour: เจ.เค. โรว์ลิ่ง ทำไมต้องเป็นชื่อย่อด้วยคะ?
โรว์ลิ่ง: เพราะสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์บอกกับฉันว่าพวกเขาคิดว่านี่คือหนังสือที่จะดึงดูดทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ฉันบอกว่า ‘โอ้ นั่นยอดเยี่ยมมาก’ แล้วพวกเขาก็ถามฉันว่า “พวกเราจะขอใช้ชื่อย่อของคุณได้ไหม?”

อันที่จริงพวกเขาพยายามจะปิดบังเพศที่แท้จริงของฉันน่ะค่ะ แต่ก็ปิดไว้ได้ไม่นาน เพราะว่า — มันน่าประหลาดใจจริงๆ นี่ฉันไม่ได้บ่นว่าอะไรเลยนะ แต่หนังสือของฉันได้รับรางวัล และฉันเองได้รับการตอบรับที่ดีมากจากสำนักพิมพ์ทางฝั่งอเมริกา ตัวฉันได้รับการเผยแพร่ออกสื่อมากมาย เพราะฉะนั้นฉันว่าฉันทำได้ดีเกินความคาดหมายนะในฐานะผู้หญิง

Amanpour: แล้วคุณก็เป็นแบบอย่างของผู้หญิงแกร่ง
โรว์ลิ่ง: ถูกค่ะ ฉันชอบชื่อ เจ.เค. มากนะ ฉันคิดว่าฉันคงจะไม่ได้เลือกใช้ชื่อนี้เสียแล้วด้วยเหตุผลที่ว่ามา แต่ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ ที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ถ้าพวกเขามาบอกให้ฉันเรียกตัวเองว่ารูเพิร์ตสิ ฉันก็คงทนไม่ได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ฉันชอบการมีนามปากกามาก ส่วนหนึ่งเพราะฉันรู้สึกว่ามันเป็นเอกลักษณ์ และในชีวิตจริงฉันคือโจ เมอร์เรย์ (Jo Murray) ฉันว่ามันเป็นเส้นแบ่งที่ดีทีเดียว

โรว์ลิ่งยังพูดถึงสาเหตุที่เธอก่อตั้งมูลนิธิลูมอส (สามารถบริจาคได้ที่นี่) หลังจากได้อ่านหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทมส์เมื่อหลายปีก่อน

Amanpour: คุณตัดสินใจอย่างไรให้สิ่งนี้ (การก่อตั้งมูลนิธิสำหรับเด็ก) กลายมาเป็นพันธกิจของคุณ?
โรว์ลิ่ง: สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้กับฉันคือเด็กคนหนึ่งค่ะ เป็นรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ เวลานั้นฉันกำลังตั้งครรภ์ และด้วยเหตุนี้คงทำให้อารมณ์อ่อนไหวและสะเทือนใจง่ายต่ออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเด็กเล็กๆ ฉันพลิกหน้าหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทมส์แล้วก็เห็น – แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังคงปรากฏชัดเจนในความทรงจำ เป็นภาพที่รบกวนจิตใจอย่างมาก ภาพของเด็กผู้ชายเล็กๆ คนหนึ่งกำลังกรีดร้องออกมาจากลูกกรง

ฉันพลิกหน้าถัดไป ฉันไม่ได้รู้สึกดีที่ทำแบบนั้นหรอกนะคะ แต่ฉันก็ยังคงพลิกหน้าถัดไป จากนั้นก็หยุดและคิดว่า หากเรื่องจริงมันแย่เหมือนกับภาพที่เห็นล่ะ ถ้าอย่างนั้นคุณคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ

ฉันจึงพลิกหน้ากระดาษกลับไปเพื่ออ่านข่าวนั้น มันเป็นเรื่องของสถานสงเคราะห์ในสาธารณรัฐเช็ก ที่ซึ่งเด็กน้อยคนนี้และเด็กอื่นๆ อีกมากมายที่ดูแสนจะขัดสนถูกเลี้ยงเอาไว้ในเตียงลูกกรง ฉันต้องบอกว่าอย่างต่ำ 20 ชั่วโมงในหนึ่งวันพวกเขาต้องอยู่กันแบบนี้ มีเปลสำหรับเด็กที่ทำจากตาข่ายหรือไม่ก็ขึงด้วยลวด นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของเด็กๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด ฉันหวาดกลัวและสะเทือนใจมากจริงๆ

โรว์ลิ่ง: ฉันคิดว่าความกลัวที่น่ากลัวที่สุดของฉันคือความอ่อนแอไร้ซึ่งพละกำลังและที่แคบๆ ดังนั้นเมื่อคุณนึกถึงเด็กน้อยที่ถูกขังเอาไว้ในเตียงลูกกรง เขาไร้ซึ่งเสียงร้องโดยสิ้นเชิง และก็ไม่มีใครออกเสียงแทนเขาเลย

ฉันว่าเราทุกคนมีบางสิ่งที่คอยส่งผลกระทบต่อความรู้สึกส่วนลึกซึ่งยากที่จะควบคุมและมองข้าม และนี่คือสิ่งที่กระทบกระเทือนใจฉัน

Amanpour: แล้วเรื่องที่แคบล่ะ เพราะอะไรคะ?
โรว์ลิ่ง: ฉันไม่ทราบค่ะ ฉันรู้สึกกลัวสิ่งนี้มาตลอด แค่ความคิดที่ว่าเด็กๆ เหล่านี้ถูกเลี้ยงแบบกักขังในที่แคบๆ นี่มันน่ากลัวมากสำหรับฉัน ฉันไม่คิดว่ามันจะเหมือนกับที่แฮร์รี่ต้องอยู่ในห้องใต้บันไดหรอกนะ คุณคงสงสัยว่าทำไมฉันถึงให้แฮร์รี่อยู่ในห้องใต้บันไดใช่ไหม เพราะนี่คือความกลัวของฉัน ถูกกักขัง อ่อนแอ ไร้ซึ่งเรี่ยวแรงที่จะเอาตัวเองออกไปจากบริเวณนั้นๆ ใช่ค่ะ โดยรวมแล้วข่าวนั้นสะกิดโดนบางอย่างที่ฉันพบว่าน่ากลัวเป็นการส่วนตัว

Leave a Reply