นักโทษแห่งอัซคาบัน (Prisoner of Azkaban)

นักโทษแห่งอัซคาบัน ไม่ได้เป็นเพียงชื่อของหนังสือภาคสามของแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ยังหมายถึงพ่อมดแม่มดที่ทำผิดกฎหมายในเกาะบริเตนและไอร์แลนด์ แล้วถูกตัดสินโทษจำคุกที่คุกอัซคาบัน (รวมถึงนักโทษที่กลายเป็นแพะรับบาปด้วย) ซึ่งคุกแห่งนี้ตั้งอยู่ไกลออกไปบนเกาะกลางทะเลคลั่ง ที่ได้รับการควบคุมโดยเหล่าผู้คุมวิญญาณมายาวนาน ก่อนจะยกเลิกพวกผู้คุมวิญญาณไปในยุคสมัยของรัฐมนตรีคิงสลีย์ ชักเคิลโบลต์ โดยให้มือปราบมารจากแผ่นดินใหญ่หมุนเวียนมาดูแลแทน (Pottermore 1 และ 2)

โดยปกติแล้ว หากนักโทษเสียชีวิตในคุก กระทรวงเวทมนตร์อังกฤษจะนำศพไปฝังไว้ข้างกำแพงของคุกอัซคาบัน (เจ้าชายเลือดผสม บ.17 น.353)


รายชื่อ “นักโทษแห่งอัซคาบัน”

แครบ (ผู้พ่อ)

ถูกจับกุมได้หลังจากการต่อสู้ที่กองปริศนา ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996

คริสปิน ครองก์ (Crispin Cronk)

เขาถูกส่งเข้าอัซคาบันด้วยข้อหาแอบเลี้ยงสฟิงซ์ไว้ในสวนหลังบ้าน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและได้รับคำเตือนจากกระทรวงหลายครั้ง หลังออกจากคุกเขาก็ยังคงเลี้ยงสฟิงซ์อยู่ (การ์ดกบช็อกโกแลต)

คอร์บาน แยกซ์ลีย์

ถูกจับกุมตัวได้บนหอคอยดาราศาสตร์ของฮอกวอตส์ ในเดือนมิถุนายน ปี 1997 (เจ้าชายเลือดผสม บ.28, 30) และเป็นอิสระในเดือนถัดมา หลังเป็นอิสระเขาก็เข้าร่วมการประชุมของจอมมารที่คฤหาสน์มัลฟอยในเดือนกรกฎาคม ปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.1)

คาร์ล็อตตา พิงค์สโตน (Carlotta Pinkstone)

ถูกตัดสินให้จำคุกหลายครั้งฐานละเมิดกฎข้อบังคับในการปกปิดความลับเวทมนตร์ เธอเป็นนักรณรงค์หัวรั้นที่ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแสดงออกถึงการมีอยู่ของเวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิ้ล (การ์ดกบช็อกโกแลต)

จั๊กสัน

หนึ่งในผู้เสพความตายที่ถูกจับกุมได้หลังการต่อสู้ที่กองปริศนาในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996 (เจ้าชายเลือดผสม บ.35) และเป็นอิสระในหน้าร้อนปี 1997 ร่วมกับผู้เสพความตายอีกหลายราย (เครื่องรางยมทูต บ.5)

ซิเรียส แบล็ก

ซิเรียส แบล็ก

แบล็กถูกจับกุมและถูกส่งตัวไปยังอัซคาบันโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีใน ค.ศ. 1981 ด้วยข้อหาทำร้ายมักเกิ้ลสิบสองคนให้ถึงแก่ชีวิต และภายหลังหลบหนีมาได้ในปี 1993 โดยการแปลงร่างเป็นแอนนิเมจัสแล้วมุดลอดลูกกรงออกมา เพราะว่าผู้คุมวิญญาณไม่มีเซนส์ที่จะตรวจจับอารมณ์ของสัตว์ได้

เซโนฟิเลียส เลิฟกู๊ด

หลังเหตุการณ์ที่แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ หลบหนีออกมาจากบ้านเลิฟกู๊ดได้ในวันที่ 28 ธันวาคม 1997 รายการจับตาพอตเตอร์ก็รายงานว่าเซโนฟิเลียสถูกผู้เสพความตายนำตัวเขาไปขังไว้ในคุก ด้วยข้อหาสนับสนุนแฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่างออกนอกหน้า (เครื่องรางยมทูต บ.22 น.423) เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าหลังการเสียชีวิตของโวลเดอมอร์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 1998 เซโนฟิเลียส และคนอื่น ๆ ที่สนับสนุนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน

เดลฟี

เดลฟี ดิกกอรี่
เดลฟี ดิกกอรี่ จากละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป ณ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แสดงโดย Gillian Cosgriff

ลูกสาวของเบลลาทริกซ์กับโวลเดอมอร์ ถูกตัดสินโทษจำคุกในปี 2020 ข้อหาทำให้เครก เบาว์เกอร์ จูเนียร์ ถึงแก่ชีวิตด้วยคำสาปพิฆาต (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป)

โดโลเรส เจน อัมบริดจ์

โดโลเรส อัมบริดจ์

ถูกนำตัวส่งเข้าอัซคาบัน ด้วยข้อหาการทำร้ายผู้ที่เกิดจากมักเกิ้ลอย่างไร้ศีลธรรม ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกเวทมนตร์ครั้งที่ 2 ในปี 1998 (อ้างอิง Pottermore)

ทราเวอร์ส

ทราเวอร์ส

ถูกจับกุมตัวในข้อหาร่วมสังหารครอบครัวแมกคินนอน (ถ้วยอัคนี บ.30) ไม่มีหลักฐานระบุว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มร่วมหลบหนีในการแหกคุกครั้งใหญ่ของผู้เสพความตายในปี 1996 หรือไม่ (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.25) แต่มีหลักฐานระบุการหลบหนีร่วมกับผู้เสพความตายคนอื่น ๆ ในช่วงหน้าร้อนปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.5)

ทาร์ควิน แมคทาวิช (Tarquin McTavish)

ต้องโทษจำคุกด้วยข้อหาอาชญากรรมเพื่อนบ้านมักเกิ้ล ที่พบติดอยู่ในกาต้มน้ำของแมคทาวิช (อ้างอิง เจ.เค.โรว์ลิ่ง)

น็อตต์ (ผู้พ่อ)

ถูกจับกุมได้หลังจากการต่อสู้ที่กองปริศนา ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996 และหนีออกมาได้อีกครั้งในช่วงหน้าร้อนปี 1997 ร่วมกับผู้เสพความตายอีกหลายราย (เครื่องรางยมทูต บ.5) น็อตต์เป็นหนึ่งในผู้เสพความตายที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงการต่อสู้ที่ฮอกวอตส์ เป็นไปได้ว่าเขาอาจถูกจับกุมตัว หรือเขาร่วมสงครามแต่ไม่มีการเอ่ยถึงเท่านั้น

บาร์ทีเมียส (บาร์ตี้) เคร้าซ์ (ลูกชาย)

บาร์ตี้ เคร้าช์

เขาถูกกล่าวอ้างว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจริงในหน้าหนาวปี 1981-2 และถูกจับขังคุกในระยะหนึ่งที่อัซคาบัน โดยมีโทษผิดในฐานที่ใช้คำสาปกรีดแทงและทำร้ายนายและนางลองบอตทอม เขาหลบหนีออกมาได้ด้วยการช่วยเหลือของแม่ของเขาที่ยอมตายแทนในอัซคาบัน ในปี 1982 ภายใต้การใช้น้ำยาสรรพรสเพื่อสลับเปลี่ยนร่างของแม่กับลูกชาย โดยการร้องขอกับบาร์ตี้ เคร้าช์ ผู้เป็นสามีก่อนตาย

เมื่อเขาหลุดรอดจากการควบคุมตัวของพ่อได้ เขาก็ออกตามหาจอมมาร และเดินทางไปยังฮอกวอตส์ในฐานะศาสตราจารย์มู้ดดี้ เขาทำตามแผนการทุกอย่างของจอมมารจนลุล่วง ก่อนถูกดัมเบิลดอร์เล่นงานและจับกุมตัวไว้ได้ ซึ่งในวันที่ 24 มิถุนายน 1995 วันเดียวกันนั้น บาร์ตี้ เคร้าช์ ก็ถูกทำพิธีมอบจุมพิตของผู้คุมวิญญาณภายใต้คำสั่งตัดสินของคอร์นีเลียส ฟัดจ์ (ถ้วยอัคนี บ.36) ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าร่างที่ยังมีชีวิตแต่ปราศจากวิญญาณของเขาถูกนำไปไว้ที่อัซคาบันหรือไม่

เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์

เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ แหกคุกอัซคาบัน

ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาใช้คำสาปกรีดแทงทำร้ายนายและนางลองบอตทอมในปี ค.ศ. 1981 จากนั้นก็หลบหนีออกมาได้ในการแหกคุกครั้งใหญ่ที่อัซคาบัน ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1996

เพอร์ซิวาล ดัมเบิลดอร์

ถูกส่งเข้าอัซคาบัน ในข้อหาทำร้ายมักเกิ้ล (หลังจากที่พบว่าเด็กผู้ชายเหล่านั้นรังแกแอรีอานนา (ลูกสาว) จนเธอไม่สามารถควบคุมเวทมนตร์ในตนเองได้) เสียชีวิตในขณะจำคุก ในปี 1890

มอร์ฟิน ก๊อนท์

ลูกชายของมาร์โวโล ก๊อนท์ ถูกส่งเข้าอัซคาบัน โดยจำคุกสามปีใน ค.ศ.1925 ด้วยข้อหาทำร้ายทอม ริดเดิ้ล (พ่อมักเกิ้ลของโวลเดอมอร์) และต่อต้านการจับกุมของทางกระทรวงฯ (เจ้าชายเลือดผสม บ.10) เขาได้รับการปล่อยตัวประมาณปี 1928 จากนั้นเขาก็ถูกส่งเข้าอัซคาบันอีกครั้งด้วยข้อหาฆาตรกรรมหมู่ครอบครัวริดเดิ้ล ในปี 1942 ไม่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดจากกระทรวง เนื่องจากมอร์ฟินสารภาพอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งความจริงแล้วเขาเป็นแพะรับบาปแทนหลานชายโดยไม่รู้ตัว หลานชายของเขาก็คือลูกชายของทอม ริดเดิ้ล (ผู้พ่อ) กับเมโรเพ ก๊อนท์ (ลูกสาวของมอร์ฟิน) ที่เรารู้จักกันในชื่อ ลอร์ดโวลเดอมอร์ นั่นเอง ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในคุก ดัมเบิลดอร์ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงให้เข้าพบมอร์ฟิน ทำให้เขาเก็บเอาความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับโวลเดอมอร์มาได้ ศพของเขาถูกฝังไว้ข้างคุกอัซคาบัน (เจ้าชายเลือดผสม บ.17)

มันดังกัส เฟล็ทเชอร์

มันดังกัส เฟล็ทเชอร์

เดลี่พรอเฟ็ตรายงานว่าเขาถูกส่งอัซคาบันในข้อหาปลอมตัวเป็นอินฟีรี (หรืออินเฟอไรในฉบับภาษาไทย) ขณะพยายามขโมยของในปี 1997 (เจ้าชายเลือดผสม บ.21)

มัลซิเบอร์

มัลซิเบอร์เชี่ยวชาญการใช้คำสาปสะกดใจ เขาบังคับคนมากมายให้ทำเรื่องร้ายแรงต่าง ๆ (ถ้วยอัคนี บ.30) หลังถูกจับกุมตัวเข้าคุก ก็หลบหนีออกมาได้ในเดือนมกราคม 1996 ระหว่างเหตุอัซคาบันถูกฟ้าผ่า จากนั้นได้ถูกนำตัวส่งอัซคาบันอีกครั้งหลังถูกจับได้ในกองปริศนาช่วงเดือนมิถุนายน 1996 (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.35) และหนีออกมาได้อีกครั้งในปี 1997 ร่วมกับผู้เสพความตายอีกหลายราย (เครื่องรางยมทูต บ.5)

มาร์โวโล ก๊อนท์

ถูกส่งเข้าอัซคาบัน เพราะทำร้ายเจ้าพนักงานกระทรวงเวทมนตร์หลายคนเพื่อขัดขวางการจับกุมตัวลูกชายของเขา มาร์โวโลถูกพิพากษาจำคุกในอัซคาบันเป็นเวลาหกเดือน หลังพ้นโทษในราวปี 1926 มาร์โวโลกลับมาที่บ้านด้วยสภาพอ่อนแอจากผลพวงที่อยู่ในคุก และการกลับมาพบว่าบ้านว่างเปล่าฝุ่นจับหนากับจดหมายลาของลูกสาว ทำให้เขาเสียชีวิตเร็วกว่าที่ควร โดยไม่มีโอกาสได้พบหน้าลูกชายที่ติดคุกไปพร้อมกันอีกครั้ง (เจ้าชายเลือดผสม บ.10)

ราบาสแตน เลสแตรงจ์

ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาใช้คำสาปกรีดแทงทำร้ายนายและนางลองบอตทอมในปี ค.ศ. 1981 จากนั้นก็หลบหนีออกมาได้ในการแหกคุกครั้งใหญ่ที่อัซคาบัน ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1996 และถูกส่งตัวกลับอัซคาบันหลังถูกจับกุมได้ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1996 ในเหตุการณ์บุกกองปริศนา (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.36) ก่อนจะหลบหนีออกมาได้อีกครั้งในช่วงหน้าร้อนปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.5)

รูเบอัส แฮกริด

รูเบอัส แฮกริด

ถูกหักไม้กายสิทธิ์และส่งตัวเข้าอัซคาบันด้วยข้อหาเปิดห้องแห่งความลับ และเป็นเหตุให้นักเรียนคนหนึ่ง (เมอร์เทิล เอลิซาเบธ วอร์เรน หรือเมอร์เทิลจอมคร่ำครวญ) ถึงแก่ชีวิต ด้วยพฤติกรรมนิยมชมชอบในสัตว์ดุร้าย ในปี 1943 ต่อมาถูกปล่อยตัวเพราะได้รับความช่วยเหลือจากดัมเบิลดอร์ และถูกคุมตัวอีกครั้งในปี 1993 ด้วยเหตุผลเดียวกัน ก่อนจะพ้นผิดด้วยหลักฐาน เพราะคนร้ายที่เปิดห้องจริง ๆ คือ ทอม ริดเดิ้ล ที่สั่งการจินนี่ วีสลีย์ ให้ทำทุกอย่างแทนตน แฮกริดจึงได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ และพ้นพิษในข้อกล่าวหา (ห้องแห่งความลับ บ.18)

โรโดลฟัส เลสแตรงจ์

ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาใช้คำสาปกรีดแทงทำร้ายนายและนางลองบอตทอมในปี ค.ศ. 1981 จากนั้นก็หลบหนีออกมาได้ในการแหกคุกครั้งใหญ่ที่อัซคาบัน ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1996

ถูกส่งตัวกลับอัซคาบันเป็นครั้งที่ 2 หลังถูกจับกุมได้ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1996 เช่นเดียวกับราบาสแตนและเบลลาทริกซ์

ถูกจับเข้าคุกเป็นครั้งที่ 3 หลังสิ้นสุดสงคราม และออกมาได้ในปี 2020 (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป องก์ที่ 4 ฉากที่ 11)

ลูเซียส มัลฟอย

ถูกจับกุมได้หลังจากการต่อสู้ที่กองปริศนา ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996 และโวลเดอมอร์ช่วยให้หนีออกมาได้ในปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.5)

วอลเด็น แม็คแนร์

วอลเด็น แม็คแนร์

ถูกจับกุมได้หลังจากการต่อสู้ที่กองปริศนาในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996 (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.35, 36) และโวลเดอมอร์ช่วยให้หนีออกมาได้ในปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.5)

สเตอร์จิส พอดมอร์

หนึ่งในกองระวังหน้าของภาคีนกฟีนิกซ์ ถูกพิพากษาจำคุกหกเดือนในอัซคาบัน ด้วยข้อหาบุกรุกและพยายามกระทำโจรกรรมที่กระทรวงเวทมนตร์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1995 ซึ่งเอริก มันซ์ พ่อมดเฝ้ายามของกระทรวงเป็นผู้พบเห็นเขาพยายามบุกผ่านประตูห้องรักษาความปลอดภัยสูงสุดตอนตีหนึ่ง ซึ่งหมายถึงประตูบานหนึ่งของกองปริศนา (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.14 น.321) เขากระทำการทั้งหมดเพราะถูกควบคุมภายใต้คำสาปสะกดใจของลูเซียส มัลฟอย (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.26) หลังถูกปล่อยตัว เขาก็กลับมาทำงานให้กับภาคีนกฟีนิกซ์เช่นเดิม

สแตนลีย์ ชันไพก์

สแตนเป็นคนตั๋วรถเมล์อัศวิน ที่ถูกบุกจับกุมในบ้านพักที่แคล็ปแฮม หลังแต่งเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับผู้เสพความตาย และถูกส่งเขาอัซคาบันในกลางดึกของฤดูใบไม้ร่วงปี 1996 (เจ้าชายเลือดผสม บ.11) เพื่อให้เหมือนกับว่ากระทรวงฯ ได้ทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้เสพความตาย ซึ่งความจริงสแตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย

ออกัสตัส รู้กวู้ด

ออกัสตัส รู้กวู้ด

ในยุคเรืองอำนาจของโวลเดอมอร์ครั้งแรก รู้กวู้ดดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปิดปากเงียบของกองปริศนา เขาเป็นสายลับให้โวลเดอมอร์ ที่ได้รับความไว้วางใจของกระทรวงเวทมนตร์ หลังคำให้การของอีกอร์ คาร์คารอฟ ที่เปิดเผยชื่อของเขาต่อศาลสูงวิเซ็นกาม็อต รู้กวู้ดก็ถูกจับกุมตัวในปี 1981 และหลบหนีออกมาได้ในการแหกคุกครั้งใหญ่เดือนมกราคม 1996 (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.26) รู้กวู้ดช่วยเหลือจอมมารด้วยการให้ข้อมูลต่าง ๆ ในกองปริศนา รวมถึงการขโมยลูกแก้วพยากรณ์ด้วย ต่อมาเขาถูกจับกุมตัวได้ระหว่างการต่อสู้ในกองปริศนา จึงถูกส่งตัวกลับอัซคาบันในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1996

เอเวอรี่ที่สอง

หลังการหายสาบสูญของโวลเดอมอร์ในยุคแรก เอเวอรี่ก็ให้การต่อศาลว่าเขาถูกควบคุมภายใต้คำสาปสะกดใจ จึงรอดพ้นจากการคุมขังในอัซคาบัน แต่เขายังคงเป็นผู้เสพความตายอยู่ เมื่อจอมมารกลับคืนชีพได้อีกครั้งในปี 1995 เขาก็กลับมาเข้าร่วมกับจอมมารเหมือนผู้เสพความตายอีกหลายคนที่ถูกเรียก และถูกจับกุมเข้าคุกได้หลังจากการต่อสู้ที่กองปริศนาในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1996

แอนโทนิน โดโลฮอฟ

โดโลฮอฟทรมารมักเกิ้ลเป็นจำนวนมาก ถูกจับกุมตัวได้หลังอีกอร์ คาร์คารอฟไม่นาน (ถ้วยอัคนี บ.30) และรับการพิพากษาในปี ค.ศ. 1981 จากนั้นหลบหนีออกจากอัซคาบันในการแหกคุกครั้งใหญ่ ในเดือนมกราคม 1996 และถูกจับกุมตัวได้อีกครั้งในกองปริศนา ในเดือนมิถุนายน (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.36) และหลบหนีได้เป็นครั้งที่ 2 ในปี 1997 (เครื่องรางยมทูต บ.5)

อีกอร์ คาร์คารอฟ

เขาเคยร่วมเป็นหนึ่งในผู้เสพความตายของโวลเดอมอร์ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของเดิร์มสแตรงก์ ถูกจับกุมตัวในปี 1980 โดยอลาสเตอร์ มู้ดดี้ หลังจากถูกไล่ล่ามาหกเดือน แต่เนื่องจากเขายอมร่วมมือกับกระทรวงเวทมนตร์ ในการบอกชื่อผู้เสพความตาย เป็นการให้การอย่างมีประโยชน์แก่ศาล จึงได้รับการลดโทษ และถูกปล่อยตัวในปี 1981-2 (ถ้วยอัคนี บ.30) ภายหลังการกลับมาของโวลเดอมอร์ อีกอร์ได้หลบหนีจากจอมมารและสมุนอยู่เป็นปี กระทั่งมีรายงานในเดลี่พรอเฟ็ตว่าถูกพบเป็นศพในวันที่ 31 กรกฎาคม 1996 (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.6)


เหตุการณ์แหกคุกอัซคาบัน

ฤดูหนาว ปี 1981-2

บาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ หรือลูกชายแท้ ๆ ของบาร์ตี้ เคร้าช์ เขาหนีออกจากคุกอัซคาบันได้สำเร็จ เพราะมารดาเกิดล้มป่วยอย่างหนักในช่วงที่เขาถูกพ่อตัวเองสั่งจำคุก เธอจึงอ้อนวอนสามีให้แลกเปลี่ยนตัวกับลูกชาย โดยอาศัยหน้าที่การงานของพ่อและน้ำยาสรรพรสในการเปลี่ยนร่างของมารดาที่ป่วยหนักให้เข้าไปเป็นลูกชายในคุก และนำลูกชายกลับออกมาในฐานะของมารดา เขาออกจากอัซคาบันมาได้ในช่วงฤดูหนาว ปี 1891-2 (ถ้วยอัคนี บ. 27 และ 33)

กรกฎาคม 1993

ซิเรียส แบล็ก หลังได้อ่านหนังสือพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ต ที่คอร์นิเลียส ฟัดจ์ (รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ในขณะนั้น) ยื่นให้ระหว่างตรวจเยี่ยมคุกอัซคาบันในช่วงหน้าร้อนปี 1993 ทำให้เขาพบว่า ปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์ เพื่อนทรยศของเขายังมีชีวิตอยู่ โดยอาศัยอยู่ในแอนิเมจัสร่างหนู (ที่นิ้วด้วนไปนิ้วหนึ่ง) และอยู่กับครอบครัววีสลีย์ ความโกรธแค้นและเจอตัวคนทรยศต่อเพื่อน ทำให้เขาหลบหนีจากอัซคาบันด้วยการกลายร่างเป็นหมาแล้วมุดลอดลูกกรุงคุกออกมา แล้วว่ายน้ำกลับเข้าฝั่งในปลายเดือนกรกฎาคม 1993 (นักโทษแห่งอัซคาบัน บ.19) มีการรายงานข่าวการแหกคุกของซิเรียสในโทรทัศน์ของมักเกิ้ล ซึ่งรายงานในวันที่ 31 กรกฎาคม 1993 วันเกิดของแฮร์รี่ (นักโทษแห่งอัซคาบัน บ.2)

มกราคม 1996

นักโทษ 10 รายที่ได้รับการควบคุมแน่นหนา เป็นพ่อมด 9 แม่มด 1 ได้แก่ แอนโทนิน โดโลฮอฟ, ออกัสตัส รู้กวู้ด, เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์, โรโดลฟัส เลสแตรงจ์, ราบาสเตียน เลสแตรงจ์, มัลซิเบอร์ และผู้เสพความตายผู้ชายอีก 4 คน หลบหนีออกมาได้ในเดือนมกราคม ปี 1996 เนื่องจากกระทรวงเวทมนตร์ในขณะนั้นสูญเสียอำนาจในการควบคุมผู้คุมวิญญาณของอัซคาบัน เพราะผู้คุมวิญญาณเข้าร่วมกองทัพของโวลเดอมอร์ ซึ่งกระทรวงเชื่อมโยงว่าซิเรียส แบล็ก เป็นแกนนำแหกคุกหมู่ในครั้งนี้ (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.25)

หน้าร้อน ปี 1997

หลังการหวนคืนอำนาจอีกครั้งของโวลเดอมอร์ ผู้คุมวิญญาณที่ปกติเฝ้านักโทษของอัซคาบันก็เข้าร่วมฝ่ายจอมมาร ทำให้ผู้เสพความตายกลุ่มใหญ่แหกคุกหมู่ออกจากอัซคาบันในช่วงหน้าร้อนปี 1997 ซึ่งทางกระทรวงเวทมนตร์ที่ในขณะนั้นแทบจะอยู่ภายใต้อำนาจแทรกแซงของลูกสมุนโวลเดอมอร์ทั้งหมดปิดข่าวการแหกคุกนี้ นักโทษแหกคุกเหล่านี้เข้าร่วมในเหตุการณ์บุกจับตัวแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1997 เท่าที่ทราบชื่อคือ สแตน ชันไพก์ (ที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นผู้เสพความตาย และถูกคำสาปสะกดใจขณะร่วมในการบุกจับแฮร์รี่), ทราเวอร์ส (เครื่องรางยมทูต บ.5) รวมถึงลูเซียส มัลฟอย และแยกซ์ลีย์ ด้วย