แอนิเมจัส (Animagus)

เกี่ยวกับแอนิเมจัส

ถ้าคุณเป็นแอนิเมจัส คุณจะเป็นสัตว์อะไร?
เจ.เค.โรว์ลิ่ง:
ฉันอยากเป็นตัวนาก มันเป็นสัตว์ที่ฉันชื่นชอบ มันคงเศร้ามากถ้าฉันเกิดกลายเป็นทากหรืออะไรอย่างอื่น

— บทสัมภาษณ์ผ่านทาง Scholastic ปี 2000

เรื่องราวของแอนิเมจัส สอนในชั้นเรียนปีสามของฮอกวอตส์ ในวิชาแปลงร่าง (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.6)

https://www.youtube.com/watch?v=450dBcJjSVI

แอนิเมจัส คือคำเรียกพ่อมดแม่มดที่สามารถกลายร่างเป็นสัตว์ได้ตามใจชอบ ซึ่งการแปลงร่างเป็นสัตว์นั้นจะเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่าง การจดจำ ลักษณะภายในตามสัตว์นั้นๆ ไปด้วย มีการระบุไว้ว่า ครั้งหนึ่งพ่อมดแม่มดที่กลายร่างเป็นค้างคาว สมองของพวกเขากลับเล็กเท่าค้างคาวไปด้วย และนั่นทำให้ขณะที่เขากลายร่างเป็นค้างคาว พวกเขาก็หลงลืมว่าจะไปที่ไหนทันทีที่ออกบิน (ควิดดิชในยุคต่างๆ บทที่ 1)

ในกรณีของ เดรโก มัลฟอย ที่ถูกคาถาเสกให้กลายร่างเป็นตัวเฟเร็ต ด้วยฝีมือของอลาสเตอร์ มู้ดดี้ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บทที่ 13) ไม่ถือว่าเป็นแอนิเมจัส เพราะแอนิเมจัสคือผู้ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนร่างตนเองให้เป็นสัตว์ได้อย่างทันทีทันใด ไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับให้เป็น แต่เกิดจากการฝึกฝนจนสามารถเปลี่ยนร่างตัวเองเป็นสัตว์ได้ การแปลงร่างเป็นสัตว์อย่างกรณีของเดรโกนั้น จะไม่สามารถคืนสภาพของตนเองได้ พวกที่ถูกเสกให้เปลี่ยนรูปร่างเป็นสัตว์ จะสูญสิ้นเวทมนตร์ จะต้องให้คนอื่นช่วยแปลงร่างกลับคืนสู่สภาพเดิม (นิทานของบีเดิลยอดกวี)

แต่แอนิเมจัสก็สามารถบังคับให้กลับคืนร่างได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีของปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์ หรือหางหนอนที่ถูกซิเรียสและลูปินเสกคาถาบังคับให้เขากลับคืนร่างมนุษย์

ภาพหางหนอน จากภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน

เมื่อกลายร่างเป็นสัตว์ แอนิเมจัสจะไร้ความสามารถอย่างมนุษย์ไปด้วย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และรวมถึงความสามารถในการพูดคุยภาษามนุษย์ก็จะสูญหายไปด้วย แม้จะเก็บคุณสมบัติการคิดและใช้เหตุผลได้อย่างมนุษย์ก็ตาม (นิทานของบีเดิลยอดกวี)

วิธีเป็นแอนิเมจัสที่แสนยากเย็น

“ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะเป็นแอนิเมไจได้น่ะ แล้วเธอยังต้องไปขึ้นทะเบียนทำอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ… จำได้ไหม… เธอต้องไปขึ้นทะเบียนที่กองตรวจสอบการใช้เวทมนตร์ในทางที่ไม่ถูกต้อง… แจ้งว่าเธอแปลงร่างเป็นสัตว์อะไร และมีตำหนิตรงไหน จะได้ไม่แปลงร่างไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง”

— เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.26,552)

การจะเป็นแอนิเมจัส จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและเล่าเรียนอย่างมาก พวกที่เป็นแอนิเมจัสจึงมีน้อยในประชากรผู้วิเศษ พ่อมดแม่มดบางคนใช้ความสามารถเหล่านี้ในการปลอมตัว หรือซ่อนตัวจากอะไรบางอย่าง และนั่นเป็นเหตุให้ทางกระทรวงเวทมนตร์ยืนกรานให้มีการจดทะเบียนผู้ที่เป็นแอนิเมจัส (นิทานของบีเดิลยอดกวี) ในทะเบียนควบคุมดูแลพ่อมดแม่มดที่กลายร่างเป็นสัตว์ จะระบุว่าพวกเขากลายร่างเป็นสัตว์อะไร มีตำหนิส่วนใดบ้าง ทว่าก็มีพ่อมดแม่มดบางคนที่เป็นแอนิเมจัส แต่ไม่ได้ทำการขึ้นทะเบียน อย่าง ซิเรียส แบล็ก (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.18) หรือริต้า สกีตเตอร์

สามารถอ่านวิธีเป็นแอนิเมจัสโดยละเอียดได้ที่ Pottermore แปลไทย

แอนิเมไจกับข้อกฎหมาย

ตามข้อกฎหมายแล้ว แอนิเมไจจะต้องขึ้นทะเบียนกับทางกระทรวงเวทมนตร์ เพราะการแปลงร่างเป็นแอนิเมจัสอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ความสามารถของการเป็นแอนิเมจัสในการจารกรรมและก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ที่เป็นแอนิเมจัสจึงต้องขึ้นทะเบียน โดยจะต้องระบุว่ากลายร่างเป็นสัตว์อะไร มีตำหนิตรงไหน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.18)

ในศตวรรษที่ 20 มีการระบุรายชื่อพ่อมดแม่มดที่เป็นแอนิเมจัสทั้งหมด 7 คน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.18) นับรวมศาสตราจารย์มักกอนนากัล ผู้ระบุว่าสาเหตุที่เป็นแอนิเมจัส ก็เพื่อศึกษาวิชาแปลงร่างอย่างลึกซึ้ง และไม่เคยใช้ความสามารถในการแปลงร่างเป็นแมวลายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้นใดๆ เว้นแต่ธุระของภาคีนกฟีนิกซ์ ซึ่งหลีกเลี่ยงการทำอย่างลึกลับและปกปิดไม่ได้ (เจ.เค.โรว์ลิ่ง)

รายนามแอนิเมไจ

  1. ฟอลโค เอซาลอน (Falco Aesalon), เหยี่ยว // เขาเป็นพ่อมดคนแรกที่ได้รับการบันทึกเป็นแอนิเมจัส [อ้างอิงการ์ดกบช็อกโกแลต]
  2. คลิโอน่า, นก
  3. มอร์แกน เลอ เฟย์, นก
  4. มิเนอร์ว่า มักกอนนากัล, แมวลายสีเทาที่มีตำหนิเป็นรอยด่างรอบดวงตา, ขึ้นทะเบียน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.1)
  5. ซิเรียส แบล็ก, สุนัขสีดำสนิทร่างมหึมาดวงตาสีซีด, ไม่ขึ้นทะเบียน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.17)
  6. ปีเตอร์ เพ็ตตริกรูว์, หนู ที่นิ้วหัวแม่เท้าหายไปหนึ่งนิ้ว, ไม่ขึ้นทะเบียน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.19)
  7. เจมส์ พอตเตอร์, กวางตัวผู้, ไม่ขึ้นทะเบียน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.19)
  8. ริต้า สกีตเตอร์, แมลงปีกแข็ง ที่มีรอยตำหนิตรงหนวดเหมือนแว่นตาประดับพลอย, ไม่ขึ้นทะเบียน (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.37)
  9. ก็อดดริก กริฟฟินดอร์, อาจเป็นปลาหมึกยักษ์ (เจ.เค.โรว์ลิ่ง เคยพูดติดตลกว่าก็อดดริก กริฟฟินดอร์ เป็นปลาหมึกยักษ์ในทะเลสาบฮอกวอตส์ เป็นแอนิเมจัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สิบเอ็ดชั่วโมงของทุกเย็น ปลาหมึกจะคลานขึ้นจากน้ำและกลายเป็นกริฟฟินดอร์ และกลับลงทะเลสาบตอนพระอาทิตย์ขึ้น แต่ก็เชื่ออะไรได้ไม่มากนัก เพราะเจ.เค.โรว์ลิ่งพยายามพูดประชด)
  10. แบ็บบิตตี้, กระต่าย (นิทานของบีเดิลยอดกวี)
  11. เอเดรียน ทุตลีย์, หนูเจอร์บิล (อ้างอิง แวกกาดู)

ความแตกต่างระหว่างแอนิเมจัส กับการแปลงร่างเป็นสัตว์

แอนิเมจัสสามารถเปลี่ยนรูปร่างตนเองให้เป็นสัตว์ได้ทันทีทันใด โดยไม่ต้องพึ่งไม้กายสิทธิ์หรือคาถา ขณะที่การแปลงร่างให้เป็นสัตว์นั้น จะต้องใช้คาถา หรือถูกเสกให้เปลี่ยนร่างเป็นสัตว์

แอนิเมจัส ยังมีความสามารถในการรับรู้ นึกถึง และใช้เหตุผลในแบบมนุษย์ ขณะที่การแปลงร่างเป็นสัตว์ จะไร้ความสามารถในการรับรู้แบบมนุษย์ในทันที (แม้จะมีบางรายที่สูญเสียความสามารถนั้นไป เพราะแปลงร่างเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากๆ อย่างค้างคาว ที่มีสมองเล็กนิดเดียว) อย่างกรณีที่หางหนอน ตามหาจอมมารจนพบ ด้วยการสืบถามจากบรรดาเพื่อนหนู หรือริต้า ที่สืบข่าวโดยแปลงร่างเป็นแมลงปีกแข็ง

แอนิเมจัส สามารถคืนรูปร่างได้เองดังใจนึก ขณะที่การแปลงร่างเป็นสัตว์ (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) จะต้องให้ผู้เองเสกกลับคืนสภาพเดิม

แอนิเมจัส กับ แอนิเมไจ ต่างกันอย่างไร?

คำว่า Animagus หรือ Animagi เกิดจากการรวมคำ 2 คือ คือคำว่า animal ที่แปลว่าสัตว์ + magus /ˈmeɪgəs/ ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่า พ่อมด หรือผู้ใช้คาถา

คำว่า Magus /ˈmeɪgəs/ เป็นคำเอกพจน์ เมื่ออยู่ในรูปพหูพจน์ จะเปลี่ยนเป็น Magi /ˈmeɪdʒʌɪ/ มีต้นแบบจากภาษาละติน หรือกรีก จากเปอร์เซียโบราณ ในคำว่า maguš

ฉะนั้น แอนิเมจัส (Animagus) จึงเป็นคำเรียกพ่อมดแม่มด 1 คน ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนร่างเป็นสัตว์ได้ ขณะที่ แอนิเมไจ (Animagi) คือคำพหูพจน์ ใช้เรียกพ่อมดแม่มดมากกว่า 1 คน ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนร่างเป็นสัตว์ได้ ฉะนั้น การพูดถึงพ่อมดแม่มดที่มีความสามารถในการแปลงร่างเป็นสัตว์ได้นั้น ในกรณีพูดถึงใครคนหนึ่ง เช่น ซิเรียส แบล็ก จะใช้ว่า “ซิเรียสแบล็กเป็นแอนิเมจัส” ทว่า หากพูดถึงรวมๆ จะใช้ว่า “พวกเขาเป็นแอนิเมไจ”

แต่ในความเป็นจริงทางภาษา เมื่อคำพหูพจน์ในภาษาอังกฤษถูกแปลเป็นไทย จะใช้คำเอกพจน์ทั้งสิ้น ในที่นี้ จะเรียก Animagi ว่า แอนิเมจัสเช่นเดียวกัน ไม่เรียกว่า แอนิเมไจ เพราะ ภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเมื่อใช้เป็นพหูพจน์ เช่น แมว (เอกพจน์) แมวหลายตัว (พหูพจน์)