คาถาและคำสาปที่มีคำร่าย ในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป

หมายเหตุ: ข้อมูลด้านล่างยึดตามหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and the Cursed Child) เป็นหลัก ยกเว้นในส่วนของคำอธิบายวิธีร่ายคาถา และข้อมูลน่ารู้อื่น ซึ่งจะมาจากรายละเอียดภายนอกร่วมด้วย เช่น หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 เล่ม

คาถาและคำสาปที่มีคำร่าย

* คาถาและคำสาปที่มีคำร่าย ที่นี้ หมายถึง  1.คาถาที่มีตัวละครเปล่งเสียงคำร่ายขึ้นมาอย่างครบถ้วนเพื่อใช้งานจริง และ 2.คาถาที่มีคำร่ายที่ถูกพูดถึงเฉย โดยไม่ได้ใช้ แค่ 2 กรณีนี้เท่านั้น สำหรับคาถาใดที่เป็นแค่ชื่อเรียกเฉย ไม่ได้มีการร่ายคาถาแบบพูดคำร่ายขึ้นมา เช่น คาถางงงัน (Confundus Charm) คาถาล่องหน (Invisibility Charm) คาถาฟองอากาศครอบหัว (Bubble-Head Charm) หรือคาถาเกราะวิเศษ (Shield Charm) จะไม่นับรวม นอกจากนี้ชื่อเรียกคาถาแบบไทยบางส่วนมาจากชื่อที่ใช้เรียกจริงตามหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ และบางส่วนเป็นชื่อที่ทางผู้เขียนนิยามขึ้นมา

มีทั้งหมด 32 คาถา ได้แก่

1.คาถาเสกไฟ

ชื่ออื่น ๆ: Fire-Making Spell, Fire-Making Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อินเซนดิโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Incendio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเสกไฟขึ้นมา ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายที่จะให้ไฟลุก คาถานี้มีแสงสีส้ม

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 4 เป็นฉากที่อัลบัสใช้คาถานี้ โดยชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่กระดาษใบอนุญาตไปเที่ยวหมู่บ้านฮอกส์มี้ดแล้วเผา (เล่ม UK – หน้า 27 / เล่มไทย – หน้า 36)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้สู้กับแฮร์รี่ที่โบสถ์ (เล่ม UK – หน้า 309 / เล่มไทย – หน้า 338)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่แฮร์รี่ใช้คาถานี้สู้กับเดลฟีที่โบสถ์ (เล่ม UK – หน้า 309 / เล่มไทย – หน้า 338)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า incendium (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ไฟ’ หรืออาจมาจากคำว่า incendo (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘จุดไฟ’ นอกจากนี้ในภาษาอิตาเลียนและภาษาสแปนิชคำว่า incendio (เป็นคำนาม) ก็แปลว่า ‘ไฟ’ ด้วยเช่นกัน

 

2.คาถาเสกไฟที่ปลายไม้กายสิทธิ์

ชื่ออื่น ๆ: Wand-Lighting Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ลูมอส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Lumos

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้เมื่อร่ายคาถาแล้วจะมีแสงไฟดวงเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นที่ปลายไม้กายสิทธิ์

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 9 เป็นฉากที่จินนี่ใช้คาถานี้เสกแสงไฟขึ้นมาดูแฮร์รี่ที่สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก (เล่ม UK – หน้า 49 / เล่มไทย – หน้า 59)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 2 เป็นฉากที่แฮร์รี่ใช้คาถานี้จุดไฟหลังจากตื่นจากฝันร้าย (เล่ม UK – หน้า 100 / เล่มไทย – หน้า 114)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า lumen (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘แสงสว่าง’

 

3.คาถาดับไฟที่ปลายไม้กายสิทธิ์

ชื่ออื่น ๆ: Wand-Extinguishing Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: น็อกซ์

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Nox

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้เมื่อร่ายคาถาแล้วแสงไฟดวงเล็ก ๆ ที่ปรากฏขึ้นที่ปลายไม้กายสิทธิ์จะดับไป คาถานี้เป็นคาถาแก้คาถาลูมอส

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 9 เป็นฉากที่แฮร์รี่แนะนำให้จินนี่ใช้คาถานี้ดับแสงไฟแล้วนอนซะ เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 52 / เล่มไทย – หน้า 62)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า nox (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘กลางคืน, ความมืด’ นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับเทพีกรีกที่ชื่อนิกซ์ (Nyx) ซึ่งเป็นเทพีแห่งช่วงเวลากลางคืนอีกด้วย

 

4.คาถาเบาะ

ชื่ออื่น ๆ: Cushioning Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: มอลลิอาเร

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Molliare

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเสกเบาะล่องหนขึ้นมา ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่จุดที่ตั้งใจจะเสกเบาะขึ้นมาแล้วร่ายคาถา

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่อัลบัสพูดกับสกอร์เปียสบนหลังคารถไฟว่าจะใช้คาถานี้กัน แค่พูดถึงแต่ยังไม่ได้ใช้ (เล่ม UK – หน้า 58 / เล่มไทย – หน้า 69)

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่อัลบัสพูดกับสกอร์เปียสบนหลังคารถไฟว่าควรต้องใช้คาถานี้แล้วนะ แค่พูดถึงแต่ยังไม่ได้ใช้ (เล่ม UK – หน้า 60 / เล่มไทย – หน้า 71)

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่อัลบัสใช้คาถานี้ในจังหวะที่กระโดดจากหลังคารถไฟ (เล่ม UK – หน้า 60 / เล่มไทย – หน้า 71)

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่สกอร์เปียสใช้คาถานี้ในจังหวะที่กระโดดจากหลังคารถไฟ (เล่ม UK – หน้า 61 / เล่มไทย – หน้า 72)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า mollire (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ทำให้นุ่ม’ซึ่งก็สอดคล้องได้ดีกับผลของเบาะที่รองรับนี้

 

5.คาถาสะเดาะกุญแจ

ชื่ออื่น ๆ: คาถาอาโลโฮโมรา,  Unlocking Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อาโลโฮโมร่า

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Alohomora

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเปิดประตูที่ล็อกอยู่ ผู้ใช้คาถาจะต้องเอาไม้กายสิทธิ์เคาะที่รูกุญแจ หรือชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่ประตู แล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือประตูจะเปิดออก (อย่างไรก็ดีบางสถานที่ถ้าใช้คาถาป้องกันที่ดีพอ คาถานี้ก็จะไม่ได้ผล)

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 1 ฉากที่ 18 เป็นฉากที่สกอร์เปียสที่ใช้น้ำยาสรรพรสแปลงกายเป็นแฮร์รี่อยู่ร่ายคาถานี้เปิดประตูห้องทำงานของเฮอร์ไมโอนี่ที่กระทรวง (เล่ม UK – หน้า 83 / เล่มไทย – หน้า 95)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่อัลบัสร่ายคาถาเปิดประตูโบสถ์ โดยใช้ 2 ครั้ง ร่าย 2 หน (เล่ม UK – หน้า 311 / เล่มไทย – หน้า 340)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คาถานี้เป็นคาถาที่มีคำร่ายชัดเจนที่ปรากฏเป็นคาถาแรกในหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งปรากฏในเล่มแรกคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ และยังเป็นคาถาที่มีคำร่ายชัดเจนที่ปรากฏเป็นคาถาแรกในภาพยนตร์ชุดสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ด้วย

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาถิ่นซิดิกิ (Sidiki) ของแอฟริกันตะวันตก มีความหมายว่า ‘มิตรต่อหัวขโมย’

 

6.คาถาปลดอาวุธ

ชื่ออื่น ๆ: Disarming Charm, Disarming Spell

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เอกซ์เปลลิอาร์มัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Expelliarmus

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้เวลาใช้ให้ตวัดไม้กายสิทธิ์ขึ้นสูงเหนือบ่า แล้วร่ายคาถา จะมีแสงสีแดงเข้มเป็นประกายบาดตาพุ่งออกจากปลายไม้กายสิทธิ์ ผลของการใช้คาถานี้จะทำให้ไม้กายสิทธิ์ (หรืออาจเป็นสิ่งอื่นที่ถืออยู่) ของคนที่ถูกปลดอาวุธจะลอยไปหาคนที่ร่ายคาถา และบางครั้งแรงของคาถาก็ทำให้คนที่ถูกปลดอาวุธกระเด็นตัวลอยด้วย

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 4 เป็นฉากที่อัลบัสฝึกซ้อมใช้คาถานี้กับเดลฟี โดยใช้ 2 ครั้ง ร่าย 2 หน (เล่ม UK – หน้า 104 / เล่มไทย – หน้า 118)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 4 เป็นฉากที่อัลบัสพูดว่าจะใช้คาถานี้ขัดขวางเซดริกในภารกิจที่ 1แค่พูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 106 / เล่มไทย – หน้า 120)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 7 เป็นฉากที่อัลบัสใช้คาถานี้ปลดไม้กายสิทธิ์ของเซดริกเพื่อขัดขวางเซดริกในภารกิจที่ 1 (เล่ม UK – หน้า 118 / เล่มไทย – หน้า 133)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้สู้กับแฮร์รี่ในห้องครัว (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 156)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่แฮร์รี่ใช้คาถานี้สู้กับเดรโกในห้องครัว (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 156)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 7 เป็นฉากที่สกอร์เปียสบอกว่าใช้คาถานี้ขัดขวางเซดริกในภารกิจที่ 1กับพวกสเนป แค่พูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 198 / เล่มไทย – หน้า 219)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 20 เป็นฉากที่เซดริกใช้คาถานี้ปลดไม้กายสิทธิ์ของเดลฟีที่เขาวงกต (เล่ม UK – หน้า 253 / เล่มไทย – หน้า 276)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากการประสมกันระหว่างภาษาอังกฤษ และภาษาละตินหลัก ๆ ดังนี้
expel (ภาษาอังกฤษ เป็นคำกริยาแปลว่า ‘ขับไล่’) หรือ expello (ภาษาละติน เป็นคำกริยาแปลว่า ‘ขับไล่’) กับคำว่า arma (ภาษาละติน เป็นคำนามแปลว่า ‘อาวุธ’)

 

7.คาถาขยายเสียง

ชื่ออื่น ๆ: Amplifying Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: โซโนรัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Sonorus

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อขยายเสียงให้ดังขึ้น ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่ช่วงลำคอแล้วร่ายคาถาเสียงถึงจะดังขึ้น

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 7 เป็นฉากที่ลูโด แบ็กแมนขยายเสียงตัวเองให้ดังขึ้นเพื่อประกาศภารกิจที่ 1 คาถานี้ถูกพูดถึงว่าลูโดใช้ (เล่ม UK – หน้า 115 / เล่มไทย – หน้า 130)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า sonorus (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘เสียงดัง’

 

8.คาถาผู้พิทักษ์

ชื่ออื่น ๆ: Patronus Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เอกซ์เปกโต พาโตรนุม

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Expecto Patronum

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเสกผู้พิทักษ์ขึ้นมา ผู้ใช้คาถาจะต้องคิดถึงความทรงจำที่มีความสุขที่ทรงพลังมาก แล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือจะมีลำแสงควันสีเงินพุ่งออกจากปลายไม้กายสิทธิ์ ถ้าพลังมากพอก็จะเป็นรูปร่างของผู้พิทักษ์

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เฮอร์ไมโอนี่ในฐานะอาจารย์วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดบอกอัลบัสว่าเธอจะสอนคาถาผู้พิทักษ์ในชั้นเรียน เป็นการพูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 134 / เล่มไทย – หน้า 151)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 9 เป็นฉากที่สเนปใช้คาถานี้เพื่อสู้กับผู้คุมวิญญาณ (เล่ม UK – หน้า 208 / เล่มไทย – หน้า 230)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– ในองก์ที่ 3 ฉากที่ 9 รอนพยายามร่ายคาถานี้แต่พูดคำร่ายไม่จบ พูดได้แค่ เอกซ์เปกโต Expecto (เล่ม UK – หน้า 205 / เล่มไทย – หน้า 226)

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า exspecto (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘คาดหวัง, รอคอย’ กับคำว่า patronus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ผู้ปกป้อง, ผู้อุปถัมภ์’

 

9.คาถาผูกมัด

ชื่ออื่น ๆ: Incarcerous Spell

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อินคาร์เซอรัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Incarcerous

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเสกเชือกขึ้นมา โดยผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วร่ายคาถา จะมีเชือกโผล่มาหลายเส้นจากกลางอากาศ แล้วมัดเป้าหมายอัตโนมัติ

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกพยายามใช้คาถาผูกมัดกับแฮร์รี่แต่ไม่สำเร็จเพราะแฮร์รี่หลบทัน (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 156)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า carcer (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘คุก’ หากเรายึดเอาว่าคำว่า in ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ‘ใน’ มารวมด้วยก็จะได้ใจความที่สอดคล้องยิ่งขึ้นว่า ‘(ถูกจับตัว) ในคุก’

 

10.คาถาเท้าเต้นรำ

ชื่ออื่น ๆ: Dancing Feet Spell

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ทารันทัลเลกร้า

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Tarantallegra

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: เวลาใช้คาถานี้ให้ชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เข่าของฝ่ายตรงข้ามแล้วร่ายคาถา คนที่โดนคาถาจะเต้นรำในจังหวะควิกสเตปเองโดยควบคุมตัวเองไม่ได้

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่แฮร์รี่ตั้งใจจะเสกคาถานี้ใส่เดรโกที่ห้องครัว แต่เดรโกหลบทัน (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 156)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาอิตาลีคำว่า tarantella (เป็นคำนาม) หมายถึง การเต้นแบบหนึ่งของอิตาลี ซึ่งสมัยก่อนเชื่อกันว่าท่าเต้นจะช่วยให้คนที่โดนแมงมุมทารันทูล่ากัดขับพิษแมงมุมออกได้ กับคำว่า allegro (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘เร็วแบบมีชีวิตชีวา’

 

11.คาถาขยายฟัน

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เด็นเซากีโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Densaugeo

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้เมื่อชี้ไม้กายสิทธิ์ร่ายคาถาไปที่ใคร คนนั้นจะมีฟันใหญ่ยาวงอกออกมาจากปาก เป็นคาถาที่มีแสง

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกตั้งใจจะเสกคาถานี้ใส่แฮร์รี่ที่ห้องครัว แต่แฮร์รี่หลบทัน (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 157)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า dens (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ฟัน’ กับคำว่า augeo (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘เพิ่มขึ้น, โตขึ้น’

 

12.คาถาจี้เส้น

ชื่ออื่น ๆ: Tickling Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ริกตัสเซมปรา

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Rictusempra

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา:
เวลาใช้คาถานี้ให้ชี้ไม้กายสิทธิ์ไปทางคนที่เราจะเสกคาถาใส่แล้วร่ายคาถา พวยแสงสีเงินจะพุ่งออกมาแล้วไปโดนที่ท้องฝ่ายตรงข้าม คนที่โดนคาถาจะตัวงอหายใจหอบเสียงดัง คุกเข่าลงมัวแต่หัวเราะ

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่แฮร์รี่ตั้งใจจะเสกคาถานี้ใส่เดรโกที่ห้องครัว แต่เดรโกเอาเก้าอี้มาบังคาถาไว้ (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 157)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า rictus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ปากที่เปิดอ้า’ กับคำว่า semper (เป็นคำวิเศษณ์) แปลว่า ‘ตลอดเวลา’

 

13.คาถากระแทกกลับ

ชื่ออื่น ๆ: Knockback Jinx

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ฟลิเพนโด

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Flipendo

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อทำให้เหยื่อหมุนคว้างกลางอากาศ โดยผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เหยื่อแล้วร่ายคาถาใส่

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้กับแฮร์รี่ที่ห้องครัว จนทำให้ตัวแฮร์รี่กระเด็นหมุนคว้างกลางอากาศ (เล่ม UK – หน้า 140 / เล่มไทย – หน้า 157)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้เป็นการเล่นคำภาษาอังกฤษในคำว่า flip (คำกริยา) ที่แปลว่า ‘พลิกตัวกลางอากาศ’ กับคำว่า end  (คำกริยา) ที่แปลว่า ‘จบ’

 

14.คาถามัดตัว

คำร่ายเป็นภาษาไทย: บราคีอาบินโด

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Brachiabindo

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อมัดตัวบุคคล โดยผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วร่ายคาถา หากพิจารณาจากรากศัพท์ของคำร่ายคาถา เป็นไปได้ว่าการมัดจะเป็นช่วงแขนและลำตัวด้านบน อย่างไรก็ดีในหนังสือไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าเป็นแขน

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่แฮร์รี่ใช้คาถานี้เพื่อมัดตัวเดรโก (เล่ม UK – หน้า 141 / เล่มไทย – หน้า 157)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 20 เป็นฉากที่เซดริกใช้คาถานี้เพื่อมัดตัวเดลฟี (เล่ม UK – หน้า 253 / เล่มไทย – หน้า 277)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เฮอร์ไมโอนี่ใช้คาถานี้เพื่อมัดตัวเดลฟี (เล่ม UK – หน้า 312 / เล่มไทย – หน้า 340)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า bracchium (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘แขน’ กับภาษาอังกฤษคำว่า bind (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ผูกมัด’

 

15.คาถาแก้คาถามัดตัว

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อีแมนซิปาเร

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Emancipare

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อคลายมัดการมัดตัว สามารถใช้แก้คาถาได้ทั้งคาถา Emancipare และคาถา Fulgari โดยผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วร่ายคาถา

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้คลายมัดตัวเอง (เล่ม UK – หน้า 141 / เล่มไทย – หน้า 157)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 20 เป็นฉากที่เซดริกใช้คาถานี้คลายมัดให้อัลบัสกับสกอร์เปียสที่โดนคาถา Fulgari มา โดยใช้ 2 หน ใช้ทีละคน (เล่ม UK – หน้า 254 / เล่มไทย – หน้า 277)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า emancipare (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ประกาศตัวเป็นอิสระ’

 

16.คาถาตีลังกาห้อยหัวกลางอากาศ

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เลวิคอร์พัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Levicorpus

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: โดยปกติคาถานี้เป็นคาถาไร้เสียง แต่ถ้าอยากพูดคำร่ายออกมาก็ได้เช่นกัน คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อทำให้คนตีลังกาห้อยหัวกลางอากาศ เหมือนมีตะขอที่มองไม่เห็นเกี่ยวขาอยู่ โดยผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วร่ายคาถา ตอนเสกจะเกิดแสงสว่างวาบที่คนที่โดนคาถา

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้กับแฮร์รี่ แต่แฮร์รี่หลบคาถาได้ (เล่ม UK – หน้า 141 / เล่มไทย – หน้า 157)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า levis (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘เบา’ กับคำว่า corpus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ร่างกาย, ลำตัว’

 

17.คาถาเคลื่อนย้ายคน

คำร่ายเป็นภาษาไทย: โมบิลิคอร์ปัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Mobilicorpus

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเคลื่อนย้ายตัวบุคคล ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วร่ายคาถา ผลของคาถาจะทำให้บุคคลนั้นลอยจากพื้นราว ๆ 2-3 นิ้ว ในรูปแบบที่เหมือนกับมีเชือกที่มองไม่เห็นผูกร่างกายดึงไว้ให้ยืนเหมือนหุ่นกระบอก ในบางกรณีคาถานี้อาจพลิกแพลงเอาไปใช้ต่อสู้ได้ และในเมื่อมันมีผลทำให้คนลอยได้ จึงอาจทำให้เกิดการกระแทกขึ้นลงไปมาได้เช่นกัน

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้กับแฮร์รี่ ทำให้แฮร์รี่เด้งไปมาบนโต๊ะ (เล่ม UK – หน้า 141 / เล่มไทย – หน้า 157)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า mobilis (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘ที่เคลื่อนย้ายได้’ กับคำว่า corpus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ร่างกาย, ลำตัว’

 

18.คาถาผ้าผูกตาสีดำ

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อ็อบสกูโร

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Obscuro

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อเสกผ้าผูกตาบุคคล ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วร่ายคาถา ผ้าผูกตาสีดำจะปรากฏขึ้นปิดตาบุคคลนั้น

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 13 เป็นฉากที่แฮร์รี่ใช้คาถานี้เสกผ้าผูกตาสีดำกับเดรโก (เล่ม UK – หน้า 141 / เล่มไทย – หน้า 158)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า obscuro (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ทำให้มืด, ปกปิด’

 

19.คาถาเพิ่มขนาด

ชื่ออื่น ๆ: Engorgement Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เอ็นกอร์จิโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Engorgio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อขยายขนาด ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วร่ายคาถา สิ่งที่เป็นเป้าหมายจะค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น

 การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่สกอร์เปียสพูดว่าแผนการคือใช้คาถานี้เหรอ แค่พูดเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 164 / เล่มไทย – หน้า 180)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่อัลบัสใช้คาถานี้ขยายขนาดสบู่ให้ใหญ่ขึ้น (เล่ม UK – หน้า 164 / เล่มไทย – หน้า 180)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่อัลบัสพูดว่าจะใช้คาถานี้กับหัวของเซดริก ยังไม่ได้ใช้จริง แค่พูดเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 165 / เล่มไทย – หน้า 181)

– องก์ที่ 2 ฉากที่ 20 เป็นฉากที่อัลบัสกับสกอร์เปียสใช้คาถานี้กับเซดริกใต้น้ำในภารกิจที่ 2 ทำให้ตัวเซดริกพองใหญ่ขึ้น (เล่ม UK – หน้า 171 / เล่มไทย – หน้า 188)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 7 เป็นฉากที่สกอร์เปียสบอกว่าใช้คาถานี้ขัดขวางเซดริกในภารกิจที่ 2 กับพวกสเนป แค่พูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 198 / เล่มไทย – หน้า 219)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า engorge (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘บวมเป่ง (เต็มไปด้วยเลือด)’

 

20.คาถาปิดผนึกแน่นประตู

ชื่ออื่น ๆ: Locking Spell

คำร่ายเป็นภาษาไทย: คอลโลพอร์ตัส

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Colloportus

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อปิดล็อกประตู ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่ประตูแล้วจึงร่ายคาถา

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 5 เป็นฉากที่สเนปใช้คาถานี้ล็อกประตู (เล่ม UK – หน้า 192 / เล่มไทย – หน้า 212)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากเดลฟีใช้คาถานี้ล็อกประตูไม่ให้พวกเฮอร์ไมโอนี่เข้าไปในโบสถ์ (เล่ม UK – หน้า 310 / เล่มไทย – หน้า 338)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า colligo (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘มัดรวม, รวบรวม’ กับคำว่า portus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ท่าเรือ, ที่ปลอดภัย’หรือคำว่า porta (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘ประตู, ทางเข้า’

 

21.คาถาขับไล่

ชื่ออื่น ๆ: Banishing Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ดีพัลโซ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Depulso

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อขับไล่ฝ่ายตรงข้ามในลักษณะของการผลักออกไปให้ไกลจากตัวผู้ร่ายคาถา ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่ฝ่ายตรงข้ามแล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือฝ่ายตรงข้ามจะถูกผลักกระเด็นถอยหลังในอากาศไปทางด้านหลังเหมือนกับว่าถูกผลักออกไปให้ไกล

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 9 เป็นฉากที่สเนปใช้คาถานี้กับอัมบริดจ์ จนทำให้อัมบริดจ์ถูกผลักกระเด็นถอยหลังในอากาศไปทางด้านหลัง (เล่ม UK – หน้า 208 / เล่มไทย – หน้า 230)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า depulso (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ผลักออกไปให้พ้นทาง’

 

22.คำสาประเบิดทำลาย

ชื่ออื่น ๆ: Blasting Curse

คำร่ายเป็นภาษาไทย: คอนฟรินโก้

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Confringo

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อระเบิดสิ่งของ ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่สิ่งของแล้วจึงร่ายคาถา ความแรงของคาถาอาจกระแทกคนที่อยู่ใกล้ได้

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่สกอร์เปียสปรึกษากับอัลบัสว่าใช้คาถานี้ทำลายเครื่องย้อนเวลาดีไหม เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 232 / เล่มไทย – หน้า 254)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่อัลบัสถามว่าใช้คาถาไหนทำลายเครื่องย้อนเวลาดี เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 236 / เล่มไทย – หน้า 258)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า confringo (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘แตกหักเป็นชิ้น ๆ, ทำพัง’

 

23.คำสาประเบิดกระจายตัว

ชื่ออื่น ๆ: Expulso Curse

คำร่ายเป็นภาษาไทย: เอกซ์พัลโซ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Expulso

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อระเบิดสิ่งของเป็นเสี่ยง ๆ ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่สิ่งของแล้วจึงร่ายคาถา ความแรงของคาถาอาจกระแทกคนที่อยู่ใกล้ได้

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่อัลบัสปรึกษากับสกอร์เปียสว่าจะใช้คาถานี้ทำลายเครื่องย้อนเวลา เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 232 / เล่มไทย – หน้า 254)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่สกอร์เปียสถามอัลบัสว่าจะใช้คาถานี้ทำลายเครื่องย้อนเวลาจริง ๆ เหรอ โดยเอ่ยถึงคำร่ายคาถานี้ 2 หน เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 232 / เล่มไทย – หน้า 254)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้ระเบิดพื้นห้องตรงที่แฮร์รี่อยู่ แต่แฮร์รี่หลบทัน (เล่ม UK – หน้า 310 / เล่มไทย – หน้า 339)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า expulsio (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘การขับไล่’

 

24.คาถาระเบิดปัง

คำร่ายเป็นภาษาไทย: บอมบาร์ดา

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Bombarda

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อระเบิดสิ่งของ ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่สิ่งของแล้วจึงร่ายคาถา แรงระเบิดของคาถานี้ค่อนข้างเสียงดัง

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่อัลบัสเสนอสกอร์เปียสว่าให้ใช้คาถานี้ทำลายเครื่องย้อนเวลา เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 232 / เล่มไทย – หน้า 254)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่อัลบัสถามว่าใช้คาถาไหนทำลายเครื่องย้อนเวลาดี เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 236 / เล่มไทย – หน้า 258)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า bombus (เป็นคำนาม) แปลว่า ‘การทำให้เกิดเสียงดัง’

 

25.คาถาสะกดนิ่ง

ชื่ออื่น ๆ: Stunning Spell

คำร่ายเป็นภาษาไทย: สตูเปฟาย

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Stupefy

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อสะกดนิ่งบุคคล ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือจะมีลำแสงสีแดงพุ่งจากปลายไม้กายสิทธิ์ยิงไปที่เป้าหมาย ส่งผลให้ตัวแน่นิ่งในท่าปัจจุบันนั้น ๆ

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่สกอร์เปียสเสนออัลบัสว่าให้ใช้คาถานี้ทำลายเครื่องย้อนเวลา โดยเอ่ยถึงคำร่ายคาถานี้ 2 หน เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 232 / เล่มไทย – หน้า 254)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่อัลบัสถามว่าใช้คาถาไหนทำลายเครื่องย้อนเวลาดี เป็นแค่การพูดถึงเฉย ๆ ไม่ได้ใช้จริง (เล่ม UK – หน้า 236 / เล่มไทย – หน้า 258)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า stupefy (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ทำให้ตะลึงงัน’ นอกจากนี้ในภาษาละตินยังมีคำว่า stupefacio ซึ่งมีความหมายแบบเดียวกันอีกด้วย

 

26.คาถาเชือกมัดเรืองแสง

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ฟูลการี

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Fulgari

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อมัดแขนบุคคลเป้าหมาย ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่เป้าหมายแล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือจะมีเชือกเรืองแสงมัดแขนมัดมือบุคคลนั้นแน่น

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้มัดแขนสกอร์เปียส (เล่ม UK – หน้า 236 / เล่มไทย – หน้า 259)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 16 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้มัดมืออัลบัส (เล่ม UK – หน้า 237 / เล่มไทย – หน้า 259)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า fulgere (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ส่องแสง’

 

27.คำสาปสะกดใจ

ชื่ออื่น ๆ: Imperius Curse

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อิมเปริโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Imperio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อสะกดใจให้ผู้ที่ถูกร่ายคาถาใส่ทำตามสิ่งใดก็ตามที่ผู้ร่ายสั่ง ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือบุคคลเป้าหมายจะถูกมนตร์สะกดให้ทำตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากบุคคลเป้าหมายมีความพยายามต่อต้านมากพอก็สามารถสู้กับคาถานี้ได้

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่อัลบัสพูดถึงคาถานี้ว่าเดลฟีต้องใช้คาถานี้กับเขาถึงจะบังคับเขาได้ เป็นการพูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 245 / เล่มไทย – หน้า 269)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่เดลฟีพูดถึงคาถานี้ว่าตามคำทำนายแล้ว เธอจะใช้คาถานี้กับอัลบัสไม่ได้ เป็นการพูดถึงเฉย ๆ (เล่ม UK – หน้า 245 / เล่มไทย – หน้า 269)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า impero (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘สั่ง, ควบคุม’

 

28.คำสาปกรีดแทง

ชื่ออื่น ๆ: Cruciatus Curse, Torture Curse

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ครูซิโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Crucio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อกรีดแทงบุคคลเป้าหมายให้รู้สึกเจ็บปวดภายในแบบที่ไม่มีบาดแผลภายนอก ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือบุคคลเป้าหมายจะบิดตัวไปมาเจ็บปวดมาก

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้เพื่อกรีดแทงสกอร์เปียสถึง 2 ครั้ง (เล่ม UK – หน้า 246 / เล่มไทย – หน้า 269และ270)

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 20 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้เพื่อกรีดแทงสกอร์เปียส (เล่ม UK – หน้า 252 / เล่มไทย – หน้า 276)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– ในองก์ที่ 3 ฉากที่ 20 เดลฟีพยายามร่ายคาถานี้ใส่สกอร์เปียสแต่พูดคำร่ายไม่จบ พูดได้แค่ ครู Cru ก่อนที่จะถูกเซดริกใช้คาถาปลดอาวุธกับเธอ (เล่ม UK – หน้า 253 / เล่มไทย – หน้า 276)

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า crucio (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ทรมานให้เจ็บปวด’

 

29.คำสาปพิฆาต

ชื่ออื่น ๆ: Killing Curse

คำร่ายเป็นภาษาไทย: อะวาดา เคดาฟ-รา

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Avada Kedavra

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อฆ่าบุคคลเป้าหมาย ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วร่ายคาถา จะมีลำแสงสีเขียวออกมาจากปลายไม้กายสิทธิ์ เมื่อคาถานี้ยิงโดนบุคคลเป้าหมายบุคคลนั้นจะเสียชีวิตทันที

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 19 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้ฆ่าเครก (เล่ม UK – หน้า 247 / เล่มไทย – หน้า 270)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดลฟีจะใช้คาถานี้ฆ่าอัลบัสแต่พลาด (เล่ม UK – หน้า 311 / เล่มไทย – หน้า 339)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 12 เป็นฉากที่โวลเดอมอร์ใช้คาถานี้ฆ่าเจมส์ (เล่ม UK – หน้า 317 / เล่มไทย – หน้า 345)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 12 เป็นฉากที่โวลเดอมอร์ใช้คาถานี้ฆ่าลิลี่ (เล่ม UK – หน้า 318 / เล่มไทย – หน้า 346)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– ในองก์ที่ 2 ฉากที่ 1 มีพูดถึงว่าแฮร์รี่ได้ยินเสียงโวลเดอมอร์ร่ายคาถาประมาณว่า อัดคาวา อัด–อะไรอะคาบรา–อัด Adkava Ad-something Acabra-Ad (เล่ม UK – หน้า 98 / เล่มไทย – หน้า 112)

– ในองก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เดลฟีจะใช้คาถานี้ฆ่าแฮร์รี่ แต่พูดคำร่ายไม่จบเพราะอัลบัสเข้ามาขัดจังหวะเลยพูดได้แค่ อะวาดา Avada (เล่ม UK – หน้า 311 / เล่มไทย – หน้า 339)

– คำร่ายคาถานี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงเรื่องที่มากันมาก กล่าวคือในงานหนังสือ Edinburgh Book Festival วันที่ 15 เมษายน 2004 เจ.เค. โรว์ลิ่งพูดที่มาของคาถานี้ว่า มันมาจากภาษาแอราเมอิกโบราณ (ที่ใช้พูดกันในประเทศซีเรียและประเทศเลบานอน) และเป็นต้นกำเนิดของคำว่า abracadabra ซึ่งหมายถึง ‘ปล่อยให้มันถูกทำลาย’ ซึ่ง ‘มัน’ ที่นี้ก็คือการเจ็บไข้ แต่มีบางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าความหมายจริง ๆ ต้องเป็น ‘ฉันสร้างสิ่งที่ฉันพูด’ อย่างไรก็ดีประเด็นที่พอจะยึดถือได้อีกอย่างนั้นคือ ภาษาละตินคำว่า cadere (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘ตาย, ถูกฆ่า’

 

30.คาถาตรวจสอบความผิดปกติของสิ่งของ

คำร่ายเป็นภาษาไทย: สเปเซียอาลิส เรเวลิโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Specialis Revelio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของสิ่งของ ผู้ใช้คาถาจะต้องเอาไม้กายสิทธิ์เคาะที่สิ่งของนั้น ๆ หรือชี้ไปที่สิ่งนั้น ๆ แล้วร่ายคาถา

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 3 ฉากที่ 21 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้ตรวจสอบห้องของเดลฟี (เล่ม UK – หน้า 257 / เล่มไทย – หน้า 281)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า specialis (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘โดยเฉพาะ, พิเศษ’ กับคำว่า revelo (เป็นคำกริยา) แปลว่า ‘เปิดเผย, แสดง’

 

31.คาถาเสกให้ของลอย

ชื่ออื่น ๆ: Levitation Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: วิงการ์เดียม เลวีโอซ่า

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Wingardium Leviosa

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา:
คาถานี้ศาสตราจารย์ฟลิตวิกสอนไว้ว่า ‘โบกและสะบัดนิดๆ จำไว้ โบกนิดสะบัดหน่อย และว่าคาถาให้ถูกต้อง’ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ หน้า 209 บทที่ 10) เทคนิคสำคัญอีกอย่างคือต้องขยับข้อมือให้ดี แล้วจึงร่ายคาถา หากสำเร็จของที่ตั้งใจจะเสกให้ลอยจะลอยขึ้น

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดลฟีใช้คาถานี้ทำให้ม้านั่งในโบสถ์ลอยขึ้น (เล่ม UK – หน้า 310 / เล่มไทย – หน้า 339)

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้ทำให้เดลฟีตัวลอย (เล่ม UK – หน้า 314 / เล่มไทย – หน้า 343)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:
– คาถานี้เป็นคาถาที่ศาสตราจารย์ฟลิตวิกสอนในเช้าวันฮัลโลวีน ตอนแฮร์รี่เรียนอยู่ปี 1 และนักเรียนคนแรกในชั้นเรียนที่ใช้คาถานี้สำเร็จคือเฮอร์ไมโอนี่
– คำร่ายคาถานี้มาจากการประสมกันระหว่างภาษาอังกฤษ และภาษาละติน คำว่า wing (ภาษาอังกฤษ เป็นคำกริยาแปลว่า ‘บิน’) + arduus (ภาษาละติน เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า ‘สูงชัน’) หรืออาจเป็น arduum (ภาษาละติน เป็นคำนามแปลว่า ‘พื้นที่ลาดชัน’) + levo (ภาษาละติน เป็นคำกริยาแปลว่า ‘ลอย’) หรืออาจเป็น levis (ภาษาละติน เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า ‘เบา’)

 

32.คาถาสงบเสียง

ชื่ออื่น ๆ: Silencing Charm

คำร่ายเป็นภาษาไทย: ซิเลนซีโอ

คำร่ายเป็นภาษาอังกฤษ: Silencio

คำอธิบายวิธีร่ายคาถา: คาถานี้ใช้ร่ายเพื่อทำให้บุคคลเป้าหมายเงียบเสียง ผู้ใช้คาถาจะต้องชี้ไม้กายสิทธิ์ไปที่บุคคลเป้าหมาย ชี้แบบทิ่มเร็ว ๆ ห้ามโบกไม้ แล้วจึงร่ายคาถา ผลที่ได้ก็คือเสียงของบุคคลเป้าหมายจะหายไป

การปรากฏและพิกัดหน้า:

– องก์ที่ 4 ฉากที่ 11 เป็นฉากที่เดรโกใช้คาถานี้ทำให้เดลฟีเงียบ (เล่ม UK – หน้า 314 / เล่มไทย – หน้า 343)

ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ:

– คำร่ายคาถานี้มาจากภาษาละตินคำว่า silens (เป็นคำคุณศัพท์) แปลว่า ‘เงียบ’

 

แหล่งอ้างอิง: