[รีวิว] เมื่อได้อ่าน “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป” ที่ไม่ได้เขียนโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง

อย่างที่หลายคนที่ติดตาม Muggle-V และละครเวที แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป หรือ Harry Potter and the Cursed Child คงทราบกันดีแล้วว่า บทละครเวทีเรื่องนี้ ไม่ได้เขียนโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง แต่เขียนบทหลักโดย แจ็ก ทอร์น ภายใต้การควบคุมทิศทางและความถูกต้องของเนื้อหาโดยเจ.เค.โรว์ลิ่ง ซึ่งเธอให้อิสระแก่ แจ็ก ทอร์น ในการเขียนและดำเนินเรื่องราวด้วยตนเองอย่างเต็มที่ บทละครเวทีเรื่องนี้จึงเป็นบทละครเวทีที่เขียนโดยคนอื่น ภายใต้การอนุมัติเห็นชอบในเรื่องราวโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง

และเนื้อหารีวิวต่อจากนี้จะเลี่ยงการสปอยล์เนื้อหาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ไปหยิบหนังสือในร้านหนังสือแล้วอ่านมันด้วยตนเองก่อนตัดสินใจว่าควรซื้อมาอ่านหรือไม่ แต่ก็มีการสปอยล์อยู่บ้างโดยพยายามอย่างยิ่งไม่ให้กระทบต่อเนื้อหา

สิ่งแรกที่ต้องแจ้งสำหรับมือใหม่สายอ่านวรรณกรรมก็คือ นี่คือหนังสือ “บทละครเวที” ไม่ใช่ “นวนิยาย” ย้ำอีกครั้ง! นี่คือหนังสือ “บทละครเวที” ไม่ใช่ “นวนิยาย” เนื้อหาที่คุณจะได้เห็นในหนังสือเล่มนี้คือ คำอธิบายว่านี่คือฉากอะไร / ตัวละครพูดอะไร / มีคำอธิบายท่าทางสั้นๆ ให้เข้าใจ คุณอาจตกใจกับคำว่า “หมวกคัดสรรเดินแหวกผ่านนักเรียน” ฉะนั้นถ้าคุณไม่เคยอ่านบทละครเวทีมาเลย และนี่คือครั้งแรกที่จะได้อ่าน ผมแนะนำให้คุณสมมติว่าตัวเองนั่งอยู่ในโรงละคร และพยายามจินตนาการตามคำอธิบายสั้นๆ เหล่านั้น และในการเปลี่ยนฉากแต่ละครั้งเป็นภาพการแสดง ให้พยายามสรุปตัวเองก่อนว่าที่จบไปเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น แล้วฉากก็ตัดเปลี่ยนไป เพื่อจะได้ไม่เงิบ หรือปรับตัวตามไม่ทันครับ พยายามคิดว่านั่งดูละครเวทีเข้าไว้

ผมเอาตัวอย่างมาให้ลองอ่านเล่นละกันเนอะ

องก์ที่หนึ่ง ฉากที่หนึ่ง
สถานีรถไฟคิงส์ครอส

            สถานีรถไฟที่แออัดวุ่นวาย เต็มไปด้วยผู้คนที่พยายามเดินทางไปที่ต่างๆ ท่ามกลางความจ้อกแจ้กจอแจ กรงนกขนาดใหญ่สองกรงสั่นกราวอยู่บนกองสัมภาระที่เทินสูงอยู่ในรถเข็นสองคัน รถทั้งสองคันมีคนเข็นคือเด็กชายสองคน เจมส์ พอตเตอร์ และ อัลบัส พอตเตอร์  จินนี่ แม่ของเด็กทั้งคู่เดินตามมาติดๆ แฮร์รี่ ชายอายุสามสิบเจ็ดปี แบกลิลี่ลูกสาวไว้บนบ่า

อัลบัส พ่อครับ พี่เขาพูดอีกแล้ว

แฮร์รี่ เจมส์ หยุดเสียทีน่า

เจมส์ ผมแค่บอกว่าเขาอาจจะไปอยู่บ้านสลิธีรินก็ได้ แล้วเขาก็อาจอยู่จริงๆ เพราะฉะนั้น… (เห็นพ่อจ้องเขม็ง) ก็ได้ครับ

อัลบัส (เงยหน้าขึ้นมองแม่) แม่จะเขียนจดหมายถึงผมใช่ไหมครับ

จินนี่ ทุกวันเลยจ้ะถ้าลูกอยากให้เราทำ

จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บทละครเวทีจะบรรยายด้วยภาษาภาพและท่าทางอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่อธิบายพรรณนาความเหมือนในนวนิยาย เราจึงต้องจินตนาการให้เป็นภาพตามตัวหนังสือตัวเอียงที่อธิบายไว้ ซึ่งหากคุณจินตนาการตามได้ทุกอักษรตัวเอียงคุณจะสนุกไปกับมัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านที่ไม่เคยอ่านบทละครเวทีมาก่อนจะเศร้าใจแน่ๆ ก็คือ อรรถรสที่ไม่ได้เขียนโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง ชนิดที่ถ้าใครอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์มารับรู้ได้เลยว่าต่างกัน และเพราะเจ.เค.ไม่ได้เขียนเองสำนวนหรืออารมณ์จึงอาจทำให้รู้สึกไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำให้แฮร์รี่ย่อยยับแต่อย่างใด เพราะอย่างที่ทราบกัน เจ.เค.โรว์ลิ่ง ควบคุมทุกเนื้อหาในเรื่องราวไม่ให้ผิดจากความคิดของเธอ และเธอไม่เคยยอมให้ใครทำลายแฮร์รี่ลงเด็ดขาด ฉะนั้นเนื้อหาในบทละครเวทีจึงยังคงสนุกอยู่ดี ต่อให้เป็นอีกคนมาถ่ายทอดก็ตาม

เพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่านและจินตนาการมากที่สุดขอแนะนำให้เปิดซาวด์แทร็กแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฟังไปด้วยระหว่างที่อ่าน… หรือหยิบภาพยนตร์ภาค 7.2 มาดูก่อนเริ่ม

โดยเนื้อหาในละครเวทีเรื่องนี้ จะพาเราย้อนกลับไปในเหตุการณ์ที่เราต่างก็คุ้นเคยกันดีในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มก่อนๆ โดยเริ่มต้นเหตุการณ์ในฉาก 19 ปีต่อมา ส่วนอวสานของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต สำหรับตัวผมเองแค่ได้เห็นชื่อตัวละครที่คุ้นเคยกลับมาปรากฏตัวก็ยิ้มแล้ว ถึงแม้จะเติบโตเป็นพ่อคนแม่คน วัย 36-40 ปีกันไปแล้วสำหรับตัวละครหลัก แต่การเติบโตไม่ได้ลดทอนความเป็นเด็กลงไปเลย เรายังเห็นมุมความเป็นเด็กในตัวละครรุ่นพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รอน วีสลีย์ ที่ยังคงความเป็นจุดสร้างเสียงตลกและอารมณ์ขันได้อย่างงดงาม จนต้องอมยิ้มหรือเผลอหัวเราะลั่นขึ้นมาเลย งานนี้ต้องขอบคุณอาจารย์สุมาลี ที่แปลมาให้เราได้อ่านแล้วยังใช้คำง่ายๆ ชัดเจน ให้เราเข้าใจได้แบบไม่ต้องเสียเวลาในการตีความนาน

จากที่มีสปอยล์มากมายก่อนหน้านี้ออกมา และผมได้อ่านมาหมดแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรส ตรงกันข้าม ผมกลับรู้สึกว่า สปอยล์เหล่านั้นขาดหายและไม่สมบูรณ์ มันผ่านการสรุปด้วยมุมมองคนคนหนึ่งไปแล้ว ขณะที่ตัวหนังสือเราได้อ่านอย่างละเอียดและสรุปด้วยตัวเอง ได้จินตนาการภาพด้วยตัวเอง

สิ่งที่จะทำให้คนอ่านเกิดอาการมึนเบลอเหมือนโดนคาถางงงัน ก็เห็นจะเป็นการเปลี่ยนฉากที่เกี่ยวพันกับเวลา ผ่านเครื่องย้อนเวลา ที่ตอนแรกผมรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลยตอนที่ฟังและอ่านสปอยล์มาก่อนหน้านี้ แต่พอได้อ่านด้วยตัวเองแล้วกลับรู้สึกว่ามันก็มีเหตุผลของมันชัดเจน มันคือ เครื่องย้อนเวลาที่ผ่านการพัฒนามาจนเกิดการย้อนเวลารูปแบบใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นสำหรับผมนะ เพราะสุดท้ายผมก็หันไปให้ความสนใจในการเอาใจช่วยความสัมพันธ์พ่อลูกของแฮร์รี่กับอัลบัส หรือเผลอตัวจิ้นอัลบัส พอตเตอร์ กับสกอร์เปียส มัลฟอย

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมยิ้มได้เกือบตลอดทั้งเรื่อง ความสนุกของช่วงวัยที่แตกต่าง สวยงาม และน่าประทับใจ

แม้เรื่องราวจะเกี่ยวพันกับการย้อนเวลา ทว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้กระทบหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปแต่อย่างใด แต่ที่แน่ๆ ที่คุณจะได้รับอย่างเต็มที่จากหนังสือเล่มนี้คือ ความสุขที่ได้กลับไป คำตอบที่คั่งค้างสงสัยในตัวละครแต่ละตัว ถึงแม้ว่าอุปนิสัยของตัวละครจะไม่เถรตรงกับในหนังสือหรือมุมมองของเจ.เค.โรว์ลิ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำลายภาพ กลับทำให้รู้สึกว่าแต่ละคนก็มีมุมความเป็นมนุษย์ปกติธรรมดา

หนังสือบทละครเวทีเล่มนี้ นำเสนอความสัมพันธ์ครอบครัวอย่างชัดเจน และบอกให้เรารับรู้และพยายามอย่างเต็มที่ว่าหากเราเติบโตขึ้นเป็นพ่อคนแม่คนเมื่อไหร่ สิ่งที่เราไม่ควรทำมากที่สุดคือการใส่ความหวังที่เราอยากให้เป็นกับลูก แม้แต่การหวังว่าจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ก็เป็นการให้ความหวังที่อาจก่อให้เกิดความอึดอัดขึ้นภายหลัง อย่างน้อยที่สุดจงเลี้ยงลูกอย่างที่เขาเป็น เข้าอกเข้าใจเขา ให้อิสระและยอมรับกันและกัน สอนให้เขารู้จักความจริงใจต่อความรู้สึก ความสัมพันธ์ และแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ความซื่อตรงจะเป็นรากฐานความสุขในครอบครัวในละครเวทีเรื่องนี้

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสาระในละครเวทีเรื่องนี้ก็คือ “อย่าตัดสินคนที่บ้าน” ไม่ใช่สลิธีรินจะเลวเสมอไป ฮัฟเฟิลพัฟก็เป็นผู้เสพความตายได้ไม่ต่างกัน และไม่ว่าจะบ้านไหนๆ เราต่างก็เป็นคนดีได้ ถ้าเรามุ่งมั่นจะเป็นคนดี และไม่ยอมโอนอ่อนให้กับความง่ายในการทำสิ่งที่เลว เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต่างก็มีข้อบกพร่อง มีจุดด่างพร้อย แม้แต่คนอย่างดัมเบิลดอร์ก็ยังไม่ขาวสะอาด แต่ก็ขึ้นชื่อว่าเขาเป็นพ่อมดที่คิดถึงส่วนรวมที่สุด มีแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเป็นพ่อที่ดี มีจินนี่เป็นคนคอยปลอบโยนและเข้าใจทุกคน มีศาสตราจารย์มักกอนนากัลที่ย้ำเตือนว่าสุดท้ายแล้วเราก็ยังทำเรื่องผิดพลาดได้เสมอ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดด้วยสติด้วย

ถ้าคุณกำลังลังเลใจว่าจะซื้อหนังสือเล่มนี้ดีไหม ผมขอใช้คำว่า “รู้งี้ซื้อไว้ก็ดี” มาแทนคำตอบนี้แล้วกันครับ เพราะคำพูดนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วหมายความว่าคุณกำลังเสียดายมันและสายไปแล้วที่จะได้มัน ถ้าคุณไม่มั่นใจในฝีมือของแจ็ก ทอร์น ก็ขอให้ลองเข้าร้านหนังสือไปเปิดอ่านมันสักหน่อย ถ้าคุณยิ้ม มีความสุข หรือตื่นเต้นจะอ่านต่อ ผมขอให้คุณหยิบมัน เพราะหนังสือบทละครฉบับซ้อมใหญ่นี้ จะไม่มีการผลิตเพิ่มอีก และอีกคำที่ขอใช้คือ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ต้องสัมผัสและให้คำตอบด้วยตัวเองครับ ผมไม่อยากชี้นำ เพราะสุดท้ายผมก็คือติ่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ชอบเรื่องราวเหล่านี้มาก มากจริงๆ และผมตั้งใจจะอ่านมันอีกเป็นครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆ ไป มีคาถาใหม่ๆ ที่ผมต้องหาคำตอบ มีตัวละครที่ผมอยากรู้จักมากกว่านี้ และมีฉากนึงที่ผมคิดถึงและอยากกลับไปหาเขาอีก T_T

ถ้าคุณลังเลใจเพราะมันเป็นบทละครเวที ไม่ใช่นิยายแบบที่คุณอ่าน ผมขอให้คุณเปิดใจลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ เพราะโลกวรรณกรรมมีมากกว่าแค่นวนิยาย ^ ^

1471232673