695

ศิลปะเบื้องหลังภาพยนตร์ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่”

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คอลลีน แอตวูด ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกเวทมนตร์เป็นครั้งแรก เธออยากคงความเป็นยุค 1920 ไว้แต่ใส่ความมหัศจรรย์ของเวทมนตร์ลงไปด้วย “ฉันสนุกกับการผสมผสานองค์ประกอบเหล่านั้นลงไปให้กลมกลืนค่ะ มันจะได้ไม่โดดออกมาแต่เป็นสิ่งที่คุณสังเกตเห็นได้ทันที” เธอกล่าว

แอตวูดเล่าถึงการพูดคุยกับผู้กำกับว่า “เดวิดต้องการถ่ายทอดพลังอันพลุ่งพล่านของนิวยอร์กในเวลานั้นที่ผู้คนหลายเชื้อชาติหลั่งไหลมาจากทั่วโลก ฉันชอบยุค 1920 นะ มันเป็นยุคของการมองโลกในแง่ดีและความเปลี่ยนแปลงในอเมริกาก่อนเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่… เป็นยุคสมัยแห่งความบ้าคลั่งในทุกๆ แง่มุม”

“คอลลีนน่าทึ่งมากครับ” เยตส์กล่าว “เธอนำเอาประสบการณ์อันยาวนาน ความเชื่อมั่นอันแรงกล้า และวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นมาใส่ในผลงานเครื่องแต่งกายทุกชุดตั้งแต่ในบทบาทใหญ่ที่สุดไปจนถึงบทเล็กที่สุด เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เราได้ทำงานร่วมกับเธอ”

Colleen Atwood

Colleen Atwood

แอตวูดเริ่มต้นเล่าถึงนิวท์ สคามันเดอร์ว่า “เขาเดินทางมาแล้วทั่วโลก ดังนั้นเขาต้องสามารถปรับตัวและกลมกลืนเข้ากับโลกความเป็นจริง เคล็ดลับคือการนำเอาโครงของเสื้อผ้ายุคนั้นมาใช้ แต่ทำให้ดูไม่เข้ากันเล็กน้อยและไม่พอดีตัวบ้างเพื่อเพิ่มความแปลกประหลาดให้ตัวละคร เครื่องแต่งกายยุคนั้นมักใช้โทนสีที่อบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องแต่งกายชาย ดังนั้นเพื่อแยกเขาออกมา ฉันจึงเลือกสีน้ำเงินนกยูงเข้มมาใช้กับเสื้อโค้ตซึ่งเขาสวมอยู่แทบตลอดเวลา” อุปกรณ์ตกแต่งชิ้นหนึ่งซึ่งอาจดึงดูดสายตาของแฟนๆ “Harry Potter” ก็คือผ้าพันคอสีดำเหลืองของนิวท์ ซึ่งเป็นที่ระลึกจากช่วงเวลาที่เขาอยู่ในฮอกวอตส์

นักออกแบบรายนี้กล่าวเพิ่มเติมว่าเธอได้ใส่คุณสมบัติอีกประการหนึ่งลงไปในเสื้อโค้ตเพื่อให้เหมาะกับอาชีพของนิวท์ “เราใส่กระเป๋าสารพัดแบบลงไปให้เขาใช้เก็บยาชนิดต่างๆ และแน่นอนว่าเอาไว้ให้เพื่อนตัวน้อยๆ เข้าไปอยู่ด้วย” เธอยิ้ม “กระเป๋าลับส่วนใหญ่จะอยู่ด้านในของเสื้อโค้ต ดังนั้นเราจึงอาจจะไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่นัก แต่กระเป๋าทุกกระเป๋าต่างมีเหตุผลที่จะต้องอยู่ตรงนั้น”

แอตวูดจัดเครื่องแต่งกายของพี่น้องโกลด์สตีนให้ออกมาแทบจะตรงข้ามกันตามลักษณะบุคลิกของทั้งสอง “ทีน่าเป็นสาวยุคใหม่ ฉันก็เลยตัดสินใจให้เธอใส่กางเกงตั้งแต่แรก ในสมัยนั้นเราคงไม่ค่อยได้พบเห็นผู้หญิงใส่กางเกง แต่ก็มีคนใส่อยู่” เธอกล่าว “และแม้ว่าเธอถูกเขี่ยทิ้งจากตำแหน่งมือปราบมาร เธอก็ยังคงใส่ชุดคล้ายกับเสื้อเทรนช์โค้ตหนังที่มือปราบมารใส่ ดังนั้นฉันจึงให้เธอใส่เทรนช์โค้ตที่ทำด้วยผ้าและมีคอปกใหญ่มาก เพื่อที่ว่าเธอจะได้มุดศีรษะลงและทำงานสายลับที่ต้องอำพรางตัวซึ่งยังคงเป็นตัวตนที่แท้จริงในใจเธอ”

รสนิยมด้านแฟชั่นของควีนนี่่นั้นดูอ่อนหวานกว่าพี่สาวอย่างเห็นได้ชัด แอตวูดให้รายละเอียดว่า “ชุดแรกที่เราเห็นเธอใส่นั้นได้แรงบันดาลใจจากชุดแม่มด แต่มีลูกเล่นแบบยุค 20 อยู่เล็กน้อยและความสนุกสนานขี้เล่นนิดหน่อย เสื้อโค้ตที่ฉันออกแบบให้เธอทอจากเส้นไหมยาว 30,000 ฟุต เป็นสีพีชแบบไล่เฉดสีอ่อนเข้ม ฉันว่ามันดูเหมือนพระอาทิตย์ตกหรือพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งให้ความรู้สึกโปร่งเบาเหมาะกับควีนนี่่”

สำหรับการหาเครื่องแต่งกายให้สมาชิกคนเดียวในกลุ่มที่เป็นโนแมจ แอตวูดกล่าวว่า “เจคอบเป็นคนประเภทที่ในสมัยนั้นอาจเรียกว่าคนบ้านนอก เสื้อผ้าของเขาดูหลวมเทอะทะตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ในยุคนั้นซึ่งถึงแม้ว่าเป็นพวกที่ไม่ค่อยมีสตางค์ก็ยังพยายามแต่งตัวให้ดูดี แต่เจคอบมีเงินน้อยมากจนเขาต้องซื้อเสื้อผ้ามือสองที่ไม่เหมาะกับรูปร่าง เพื่อสื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ฉันจึงใช้ผ้าเนื้อนุ่มกว่าปกติทำให้สูทของเขาดูหลวมโคร่งแทนที่จะได้ทรงสวยงามตามแบบยุคนั้น”

สำหรับเพอร์ซิวาล เกรฟส์ผู้ยากหยั่งถึงนั้น “ฉันอยากให้เขาดูมีพลัง” แอตวูดกล่าว “ก็เลยจงใจเน้นบางส่วนให้เกินจริง เช่น ความยาวของรองเท้าบู๊ตและช่วงไหล่ เสื้อโค้ตของเขาแทบจะเป็นเสื้อคลุมตัวยาว ดูเรียบหรูแต่มีการเดินแถบที่ริมผ้าเป็นแนวยาว ฉันได้ผ้าที่สวยมากซึ่งเดินแถบด้วยด้ายลูเร็กซ์สีเมทัลลิก มันไม่วิบวับมากเกินไปแต่ก็พอให้เราได้เห็นแสงวาวออกมา”

ในทางตรงกันข้าม แอตวูดบรรยายถึงเสื้อผ้าของครีเดนซ์ว่า “มีช่วงไหล่แคบมาก คอปกสูงและคับแน่น เอซรามีช่วงขาที่ยาว ดังนั้นฉันจึงเน้นด้วยกางเกงลายทางและการเดินเส้นขอบที่แจ็กเก็ตสั้นของเขา เขากับเจคอบเป็นตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้ที่ไม่มีโอเวอร์โค้ตซึ่งฉันตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น การไม่มีเสื้อโค้ตใส่เมื่ออากาศหนาวสื่อถึงความยากจนซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ได้ผลกับทั้งคู่”

แอตวูดเก็บงานออกแบบที่หรูหราที่สุดเอาไว้ให้ประธาน MACUSA เซราฟิน่า พิกเคอรี ซึ่งนั่งเป็นประธานการประชุมสมาพันธรัฐแม่มดแม่มดนานาชาติในชุดผ้าไหมสีดำสนิทอันงดงาม ปักด้ายทองตลอดตัว พร้อมด้วยลูกปัดปักเป็นสัญลักษณ์ทันเดอร์เบิร์ดตรงช่วงอก ขณะที่ด้านบนเป็นเครื่องประดับศีรษะหุ้มอัญมณี

เซราฟิน่า พิกเคอรี ประธานาธิบดีแห่งมาคูซา

เซราฟิน่า พิกเคอรี ประธานแห่งมาคูซา

สมาชิกคนอื่นๆ ของสมาพันธรัฐแห่งนี้แต่งตัวด้วยชุดทางการไม่แพ้กันซึ่งต่างสะท้อนถึงประเทศและวัฒนธรรมของตนเอง “เวลาคุณเห็นคนเหล่านี้อยู่รวมกัน คุณรู้สึกได้เลยว่าพวกเขาเป็นตัวแทนส่วนต่างๆ ในโลกเวทมนตร์” แอตวูดกล่าว “ทุกคนดูสง่างามภูมิฐาน แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บ่งบอกว่าพวกเขาเป็นหัวหน้าในชุมชนเวทมนตร์ด้วย”

แอตวูดเพิ่มรายละเอียดแบบโลกเวทมนตร์ลงไปในหมวกทรงระฆังแบบที่ผู้หญิงยุค 20 ชอบใส่กัน “หมวกทรงระฆังของแท้จะเป็นรูปโดมที่ครอบศีรษะได้พอดี แต่เราทำหมวกแบบนี้ให้มียอดแหลมขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อจะได้ดูเป็นแม่มดมากขึ้น” เธอเล่า

สัมภาระอย่างหนึ่งที่พ่อมดแม่มดทุกคนจะต้องนำติดตัวไปด้วยก็คือไม้กายสิทธิ์ของแต่ละคน และการเลือกไม้กายสิทธ์ให้ตัวละครนั้นก็เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับนักแสดง หัวหน้าฝ่ายผลิตของประกอบฉาก ปิแอร์ โบแฮนนา กล่าวว่า “นักแสดงทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบไม้กายสิทธิ์ของตน ดังนั้นคุณควรได้รู้ว่ามันสำคัญต่อนักแสดงมากแค่ไหน”

Pierre Bohanna ผู้ออกแบบของประกอบฉากตั้งแต่แฮร์รี่ พอตเตอร์

Pierre Bohanna ผู้ออกแบบของประกอบฉากตั้งแต่แฮร์รี่ พอตเตอร์

เอ็ดดี้ เรดเมย์นยืนยันว่า “ครั้งแรกที่ผมต้องเลือกไม้กายสิทธิ์เป็นเหมือนการทำความปรารถนาให้เป็นจริงอย่างที่ไม่นึกไม่ฝันมาก่อน จากนั้นผมก็เลยตื่นเวทีขึ้นมาเพราะนึกขึ้นได้ว่าไม่รู้จะใช้มันยังไงดี” เขาหัวเราะ

“บางครั้งฉันจะเดินไปรอบๆ โดยมีไม้กายสิทธิ์อยู่ในมือและลืมไปชั่วขณะว่าฉันไม่ได้มีพลังทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้จริงๆ” อลิสัน ซูดอล เผยพร้อมรอยยิ้ม “ถึงจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ลึกลงไปเราทุกคนก็ยังอยากให้มีเวทมนตร์ เพราะฉะนั้นจึงน่าเหลือเชื่อมากค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโลกที่เวทมนตร์กลายเป็นจริงได้”

องค์ประกอบทางศิลปะส่วนสุดท้ายใน “Fantastic Beasts and Where to Find Them” คือดนตรีประกอบซึ่งแต่งโดยเจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด “หนังแบบนี้เป็นฝันของนักแต่งเพลงทุกคน” เขากล่าว “หนังครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวางมาก มีช่วงเวลาที่งดงามน่ามหัศจรรย์ แล้วก็มีช่วงเวลาที่หม่นมืดน่ากลัวด้วย ดังนั้นจึงต้องการเพลงธีมที่ซับซ้อนและสามารถปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ แล้วที่สำคัญคือต้องช่วยบอกเล่าเรื่องราวด้วย”

James Newton Howard

James Newton Howard

ฮาวเวิร์ดยังได้หยอดรายละเอียดที่บ่งบอกถึงยุคสมัยลงไปในดนตรีประกอบอย่างแนบเนียน “ยุค 1920 มีมรดกทางดนตรีอยู่มากมาย ดังนั้นเราจึงยกย่องดนตรียุคนั้นด้วยการนำกลิ่นอายมาใส่ในบางช่วงเพื่อสร้างบรรยากาศของยุคนั้นขึ้นมา

“เป้าหมายหลักของผม” เขาเสริม “คือการเขียนเพลงธีมที่สนุกและน่าจดจำให้ตัวละครหลักไปจนถึงสัตว์บางตัว เพื่อถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครเหล่านี้และช่วยให้หนังเรื่องใหม่นี้มีเอกลักษณ์ทางดนตรีของตนเอง”

นอกจากนั้นนักแต่งเพลงรายนี้ยังได้นำเอาท่วงทำนองบางส่วนจากเพลงที่ฟังแล้วนึกออกทันทีอย่าง “Hedwig’s Theme” มาใส่ลงไปด้วย เพื่อให้เชื่อมโยงกลับไปยังหนัง “Harry Potter”

เดวิด เฮย์แมนกล่าวว่า “เจมส์เป็นนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเรา เขาได้สร้างดนตรีประกอบอันไพเราะซึ่งไม่เพียงตรงตามบุคลิกของตัวละคร แต่ยังแปรผันไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างลื่นไหลด้วย

“นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากครับ” ผู้อำนวยการสร้างรายนี้กล่าว “เพราะเช่นเดียวกับงานทุกชิ้นของโจ หนังเรื่องนี้จะสร้างความตราตรึงใจด้วยการถ่ายทอดอารมณ์และการผจญภัยอันหลากหลาย”

“ฉันหวังว่าคนจะรักตัวละครเหล่านี้ค่ะ” เจ.เค.โรว์ลิ่งกล่าว “หวังว่าผู้ชมจะทุ่มเทใจให้เรื่องราวของพวกเขาและอยากรู้ว่าการผจญภัยจะนำพวกเขาไปสู่จุดไหนในอนาคตข้างหน้า”

เดวิด เยตส์ สรุปว่า “สำหรับทุกคนที่เติบโตมากับหนังสือของโจและหนังที่ตามมา การได้นำคนเหล่านี้กลับมายังโลกของเธออีกครั้งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากครับ เธอขยายจักรวาลนี้ออกไปด้วยผลงานที่ทะเยอทะยานและน่าอัศจรรย์ใจด้วยการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง และได้สร้างสรรค์เรื่องราวตลอดจนตัวละครใหม่ๆ ซึ่งน่าหลงใหลและเป็นอมตะ”


Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426

Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426

Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/muggle-v.com/httpdocs/wp-content/themes/mts_clean/functions/theme-actions.php on line 426