ในฤดูร้อนปี 1997 หนังสือชื่อ Harry Potter and the Philosopher’s Stone โดยเจ.เค โรว์ลิ่ง นักเขียนซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ด้วยคำว่า “เธอเป็นพ่อมด แฮร์รี่” หนังสือเล่มนี้ได้นำเราเข้าสู่อาณาจักรอันน่ามหัศจรรย์ซึ่งในไม่ช้าก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อโลกเวทมนตร์ นับจากนั้นโลกของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ด้วยหนังสือขายดีเจ็ดเล่มและหนังทำเงินแปดเรื่อง คนหลายล้านคนทั่วโลกต่างหลงใหลในเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์และผองเพื่อนซึ่งกำลังเติบโตเรียนรู้และได้นำเราไปสู่การผจญภัยอันมหัศจรรย์และน่าตื่นเต้น ตัวละครที่หลายคนชื่นชอบอย่างแฮร์รี่ เฮอร์ไมโอนี่ รอน ดัมเบิลดอร์ และแม้กระทั่ง “คนที่ไม่ควรเอ่ยนาม” กลายเป็นบุคคลสำคัญแห่งยุค ขณะที่คำศัพท์อย่างมักเกิ้ล ควิดดิช และฮอกวอตส์ ก็ได้บรรจุอยู่ในคลังคำทางวัฒนธรรมของเรา
หลังจากหนังสือที่สร้างประวัติศาสตร์เล่มแรกของเจ.เค.โรว์ลิ่ง ออกมาได้เกือบสองทศวรรษ ณ บัดนี้ ผู้ชมจะได้หวนกลับสู่โลกเวทมนตร์อีกครั้งในยุคใหม่แห่งความมหัศจรรย์ใน “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (Fantastic Beasts and Where to Find Them)”
แม้ว่า “Fantastic Beasts” จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีกยุคสมัยและอีกสถานที่โดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะ Fantastic Beasts and Where to Find Them เป็นตำราเล่มหนึ่งของแฮร์รี่ที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ซึ่งมาเขียนบทภาพยนตร์เป็นครั้งแรกและยังรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างของหนังเรื่องนี้ด้วยเล่าว่า แรกเริ่มเธอคิดจะเขียนตำราเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อการกุศล “ระหว่างที่เขียนหนังสือเล่มนั้น” เธอกล่าว “ฉันก็เริ่มหันมาสนใจผู้เขียนซึ่งดูมีเงื่อนงำซ่อนเร้นอย่าง นิวท์ สคามันเดอร์ แล้วเขาก็เริ่มมีชีวิตขึ้นมา ดังนั้นฉันจึงกระตือรือร้นมากเมื่อสตูดิโอติดต่อมาแล้วบอกว่าอยากทำเรื่องนี้เป็นหนัง เพราะฉันมีเรื่องราวความเป็นมาอยู่ในหัวอยู่แล้ว และทางสตูดิโอก็บังเอิญเลือกสิ่งที่ฉันสนใจมากที่สุดด้วย และฉันรู้ว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ ฉันก็ต้องเป็นคนเขียนมันออกมา เพราะฉันรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนิวท์มากเกินกว่าจะปล่อยให้คนอื่นทำ”
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวในปี 1926 ว่าด้วยตัวละครที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสัตว์วิเศษวิทยา ก่อนที่เขาจะเขียนตำราซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตำราภาคบังคับที่โรงเรียนฮอกวอตส์อันเป็นโรงเรียนเก่าของเขา นิวท์มาถึงนิวยอร์กในช่วงท้ายของการเดินทางซึ่งนำเขาไปสู่ดินแดนอันห่างไกลเพื่อค้นหาสัตว์วิเศษ และการที่สัตว์อันมีค่าของเขาได้หนีออกไปทำให้เขาต้องตกกระไดพลอยโจนไปพบเหตุการณ์ต่างๆ อันอาจเสี่ยงต่อการเผยความลับของชุมชนเวทมนตร์ซึ่งหลบซ่อนอยู่กลางที่แจ้งท่ามกลางเหล่าโนแมจ
เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับผลงานก่อนหน้าของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ในแง่มุมอื่นๆ ที่ลึกลงไปด้วย ผู้อำนวยการสร้าง เดวิด เฮย์แมน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างหนัง “Harry Potter” ทั้งแปดภาคยืนยันว่า ท่ามกลางความมหัศจรรย์และความสนุกสนานนั้นยังคงมีเอกลักษณ์พิเศษที่พบได้ในงานเขียนของเธอ “แนวคิดมากมายที่ซ่อนอยู่ในหนังสือ Harry Potter นั้นสามารถพบได้ในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความดีงามของการยอมรับความแตกต่างเมื่อเทียบกับอันตรายของการไม่ยอมรับความแตกต่างและการกดขี่ การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองเป็น กลุ่มคนนอกที่มารวมตัวกันและผูกพันกัน… มีอารมณ์อันเป็นสากลและความเกี่ยวข้องกับแนวคิดต่างๆ ที่ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ สัตว์มหัศจรรย์อาจอยู่ในชื่อเรื่อง แต่แท้จริงแล้วมนุษย์เป็นหัวใจของเรื่องราวนี้”
ผู้กำกับ เดวิด เยตส์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานเขียนของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ไว้ว่า “ตัวละครของโจมีความสง่างามและความเป็นมนุษย์… เป็นการยกย่องตัวตนที่แท้จริงโดยไม่ต้องหาคำแก้ต่างใดๆ และไม่พยายามทำตามแบบแผนมากเกินไปหรือแอบซ่อนศักยภาพของตัวเองในการเป็นทุกสิ่งที่คุณสามารถเป็นได้ เธอเชิดชูความเป็นปัจเจกครับ”
“สำหรับฉัน วีรบุรุษก็คือคนที่กล้าพูดว่า ‘ฉันรู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น’” โรว์ลิ่งกล่าว “พวกเขาคือคนที่พร้อมจะตั้งคำถามว่า ‘ทำไมถึงเป็นแบบนี้ล่ะ’”
เอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบทนำเป็นนิวท์ สคามันเดอร์ กล่าวว่า “แนวคิดที่เป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้ก็คือความกลัวในสิ่งที่เราไม่เข้าใจและการตอบสนองต่อความกลัวนั้นด้วยวิธีการที่สุดขั้ว ด้วยเหตุนี้พ่อมดแม่มดจึงต้องอาศัยอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในนิวยอร์กและพ่อมดกับมักเกิ้ลก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ต่อกันเลย ขณะที่ในอังกฤษซึ่งเป็นบ้านของนิวท์นั้นยังอนุญาตให้คนสองกลุ่มนี้ติดต่อสื่อสารกันได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุผลนี้พวกเขาจึงอยากทำลายสัตว์วิเศษเพราะสัตว์เหล่านี้อาจเผยความลับว่าเวทมนตร์มีอยู่จริงโดยไม่ได้ตั้งใจ แนวคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ.เค.โรว์ลิ่ง นำมาสำรวจและคล้ายจะเป็นประเด็นนำในหนังเรื่องนี้”
นอกจากความกลัวว่าจะถูกเปิดเผย ภัยคุกคามอันดำมืดอีกประการหนึ่งก็กำลังก่อความวุ่นวายไปทั่วโลกเวทมนตร์ เฮย์แมนเล่าว่า “มีพ่อมดอันทรงพลังที่มีชื่อว่ากรินเดลวัลด์ เขาเป็นคนที่ต้องการล้มล้างระบบและเชื่อว่าพ่อมดแม่มดเป็นสายพันธุ์ที่เหนือกว่า เขาไม่ปรากฏตัวมาพักใหญ่แต่เขากำลังรวบรวมผู้สนับสนุนอยู่ และแนวคิดต่อต้านมักเกิ้ลหรือต่อต้านโนแมจที่เขาเผยแพร่นั้นก็เริ่มมีสาวกผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโวลเดอมอร์ในหนังสือ Harry Potter หรือกรินเดลวัลด์ซึ่งเป็นปีศาจที่เราไม่เห็นตัวแต่คอยหลอกหลอนอยู่ในหนังเรื่องนี้ แนวคิดเรื่องการไม่ยอมรับความแตกต่างและการตราหน้าคนบางกลุ่มก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในงานเขียนของโจ ทั้งในเรื่องนี้และในผลงานทุกชิ้นของเธอ
“ผมยินดีที่ได้เริ่มต้นเรื่องราวบทใหม่ในจักรวาลอันยิ่งใหญ่นี้” เฮย์แมนกล่าวต่อ “เป็นจักรวาลที่ขยายออกไปสู่อีกทวีปหนึ่งและอีกยุคสมัยหนึ่ง มันให้ความรู้สึกที่คุ้นเคยแต่ก็เป็นสิ่งใหม่ด้วย และบทภาพยนตร์ของโจก็กระตุ้นให้เราทุกคนได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่”
หลังจากกำกับหนัง ‘Harry Potter’ สี่ภาคหลังมาแล้ว เยตส์กล่าวว่าการได้กลับมายังโลกเวทมนตร์ในภาพยนตร์นั้น “เหมือนการกลับบ้าน เป็นเรื่องดีครับที่ได้กลับมาสู่โลกอันแสนวิเศษที่ผมเคยอยู่มาหกปี”
“Fantastic Beasts” เป็นหนังเรื่องแรกในโลกเวทมนตร์ใบนี้ที่ไม่ได้สร้างมาจากหนังสือ จึงช่วยให้ผู้สร้างหนังมีอิสระในการสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เยตส์กล่าวว่า “การทำงานกับโจขณะที่เธอพัฒนาบทหนังเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นครับ เพราะนี่ไม่ใช่การดัดแปลง เราทำงานกับตัวเนื้อหาตั้งต้น มันยิ่งน่าสนใจมากที่ได้สร้างหนังให้เป็นรูปเป็นร่างร่วมกับผู้ที่สร้างโลกใบนี้ขึ้นมาโดยตรง และเป็นประโยชน์มากด้วยเพราะแน่นอนว่าเธอเป็นคนที่รู้กฎเกณฑ์ของโลกใบนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง โจมีความคิดที่โลดแล่นครับ เธอมีไอเดียต่างๆ พรั่งพรูออกมามากมาย แต่เธอก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยมและเข้าใจดีว่าการทำหนังเป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน เธอชอบที่ได้เห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่างกันไป”
“เดวิด เยตส์รู้จักโลกใบนี้เป็นอย่างดีและเราก็ทำงานเข้ากันได้ดีมาก ดังนั้นฉันจึงดีใจมากค่ะที่เขาอยากทำหนังเรื่องนี้” โรว์ลิ่งกล่าว “และเดวิด เฮย์แมนก็มาร่วมงานตั้งแต่ต้น ฉันนึกไม่ออกเลยว่าจะทำหนังเรื่องนี้โดยขาดเขาได้ยังไง”
โรว์ลิ่งยังได้กล่าวชื่นชมสตีฟ โคลฟส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนบทหนัง “Harry Potter” และมาร่วมงานใน “Fantastic Beasts” ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง “ฉันอยากให้สตีพมาร่วมงานด้วยเพราะฉันไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์มาก่อนเลย ฉันจึงรู้ว่าต้องการคำแนะนำ” เธอกล่าว “การได้เขามาคอยให้คำปรึกษาเป็นประโยชน์มากจริงๆ ค่ะ”
ขณะที่โคลฟส์ก็ชื่นชมโรว์ลิ่งเช่นกัน “สำหรับผมแล้ว งานเขียนใดๆ ก็ตามที่ประสบความสำเร็จรวมถึงงานเขียนบทภาพยนตร์นั้น ต้องอาศัยจังหวะและท่วงทำนองคล้ายดนตรี ถ้าขาดสิ่งนี้ไปคุณอาจไม่สังเกตเห็นโดยตรง แต่คุณจะรู้สึกได้ ในทางกลับกัน ถ้าหากงานเขียนมีท่วงทำนองอยู่ในตัวแล้ว มันก็จะสร้างความประทับใจได้ โจแต่งท่วงทำนองได้งดงามมากครับ” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม
เยตส์เห็นด้วย “มันตลก อ่อนโยน น่าประหลาดใจและน่ากลัว…เป็นทุกอย่างที่คนทำหนังมองหาในผลงานสักชิ้นหนึ่งซึ่งช่วยให้คุณได้ใช้ความสามารถในการเล่าเรื่องอย่างเต็มที่ครับ”
เรดเมย์นก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ผมต้องทึ่งในบทหนังเรื่องนี้ก็คือมันครอบคลุมเรื่องราวที่กว้างขวาง แต่ก็ยังคงมีความใกล้ชิดลึกซึ้ง ผมได้สัมผัสอารมณ์หลากหลายรูปแบบระหว่างอ่าน ผมตะลึงที่ได้เห็น เจ.เค. โรว์ลิ่งถักทอองค์ประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างละเอียดลออ สิ่งที่เธอทำได้อย่างงดงามก็คือการสร้างคนจริงๆ ที่มีทั้งความยอดเยี่ยมมหัศจรรย์และความอ่อนแอบอบช้ำ
“ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีผู้กำกับคนไหนที่ทุ่มเทให้การถ่ายทอดองค์ประกอบทั้งหมดนี้ในภาพยนตร์มากไปกว่าเดวิด เยตส์” นักแสดงรายนี้กล่าวต่อ “เขาไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ครับ ในงานหนังสเกลใหญ่ขนาดนี้ มีทีมงานหลายฝ่ายที่เขาจะต้องควบคุมดูแล และที่น่าทึ่งก็คือเขาสามารถขับเคลื่อนงานทุกส่วนได้ พร้อมกันกับเพ่งความสนใจและพินิจพิจารณาตัวละครอย่างละเอียดด้วย เขาไม่พลาดเลยซักเม็ด เขามักตื่นเต้นพิศวงเหมือนเด็กๆ จนกลายเป็นพลังที่ช่วยกระตุ้นทุกคน การทำหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่เพลิดเพลินมากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ผมเคยสัมผัสมา”
“ผมชื่นชมเดวิดมากครับในฐานะผู้กำกับ” เฮย์แมนกล่าว ใน “Fantastic Beasts” เขาทำงานร่วมกับเยตส์เป็นเรื่องที่ห้าแล้ว “เขาค้นหาความจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผลักดันให้เกิดความสมจริง ซึ่งผมคิดว่าช่วยให้ทุกอย่างยกระดับขึ้นมาตั้งแต่เรื่องราวไปจนถึงการแสดง เขานำเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวทุกคนออกมาทั้งหน้ากล้องและหลังกล้อง แล้วเขาก็ยังชอบการทำงานร่วมกันอีกด้วย แม้แต่ในเวลาที่เขามีความคิดเห็นที่ชัดเจนของตัวเอง เขาก็ยังพร้อมที่จะรับฟังแนวคิดของผู้อื่น และสุดท้ายแล้วเขาก็ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ”
เหล่านักแสดงที่มีความสามารถซึ่งมาร่วมงานกับเรดเมย์น ได้แก่ แคเธอรีน วอเตอร์สตัน, แดน ฟอกเลอร์, อลิสัน ซูดอล, เอซรา มิลเลอร์, ซาแมนธา มอร์ตัน, จอน วอยต์, คาร์เมน เอโจโก และคอลิน ฟาร์เรลล์
ส่วนงานเบื้องหลังนั้น ทีมงานเก่าหลายคนจาก “Harry Potter” ได้กลับมาพบกันใน “Fantastic Beasts” รวมถึงนักออกแบบงานสร้าง สจ๊วต เครก ตลอดแปดภาคที่ผ่านมา เครกได้สร้างภาพของโลกเวทมนตร์ที่โรว์ลิ่งจินตนาการไว้ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นปราสาทฮอกวอตส์ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างที่ทุกคนจดจำได้ไม่แพ้ตัวละครที่อยู่ในนั้น สำหรับหนังเรื่องนี้ เครกได้สร้างสถาบันอีกแห่งในโลกเวทมนตร์ซึ่งก็คือสำนักงานใหญ่ของ MACUSA (สภาเวทมนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา) อย่างไรก็ดี งานออกแบบของเขาส่วนใหญ่นั้นอยู่ในฉากบ้านเมืองของพวกโนแมจที่นิวยอร์กยุคปี 1926 ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดที่สตูดิโอลีฟส์เดนของ Warner Bros. ในอังกฤษ
ผู้อำนวยการสร้าง ลิโอเนล วิแกรม กล่าวว่า ทีมงานมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้กลับมายังสตูดิโอที่เปรียบเสมือนบ้านในช่วงเวลานับทศวรรษระหว่างการสร้างหนังเรื่อง “Harry Potter” ทั้งแปดภาค “พวกเราตื่นเต้นดีใจที่ได้กลับมายังลีฟส์เดน ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดหลังจากยุค ‘Harry Potter’ ในส่วนของฉากนั้นเราต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดและทำให้ฉากครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวาง ขณะเดียวกันก็มีรายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ เวลาที่เราเดินไปตามฉากถนนในนครนิวยอร์ก เราทุกคนรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปยังอดีต”
ภายใต้การกำกับของเยตส์ สัตว์มหัศจรรย์นานาชนิดได้มาปรากฏในหนังด้วยฝีมือของฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ นำโดยผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟกต์ ทิม เบิร์คและคริสเตียน แมนซ์ รวมถึงทีมพัฒนาแอนิเมชั่นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบวิชวลเอฟเฟกต์ นำโดยพาโบล กริลโล
เยตส์ยังได้กลับมาทำงานร่วมกับมือตัดต่อที่คุ้นเคยกันมานานอย่างมาร์ค เดย์ และร่วมงานเป็นครั้งแรกกับผู้กำกับภาพ ฟิลิปป์ รูสเซล็อต, นักออกแบบเครื่องแต่งกาย คอลลีน แอตวูด และนักแต่งเพลง เจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด
เมื่อทีมงานฝ่ายต่างๆ ทำงานประสานกับผู้กำกับ มือเขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง ความพยายามร่วมกันนี้ก็บังเกิดเป็นฉากหลังสุดบรรเจิดให้เหล่านักแสดงทุกคนได้ร่ายเวทมนตร์
ภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ภาคแรก มีกำหนดฉายในไทย 17 พฤศจิกายนนี้ทุกโรงภาพยนตร์