ก้าวเข้าสู่ร้านเหล้าเถื่อนแห่งเมืองนิวยอร์กยุค 1920

โดย ผู้สื่อข่าวพอตเตอร์มอร์

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2016

ก้าวเข้าสู่ร้านเหล้าเดอะไบลนด์พิก ร้านเหล้าเถื่อนแห่งเมืองนิวยอร์กยุค 1920 ที่นิวท์ เจคอบ ทีน่า และควีนนี่่ ในภาพยนตร์ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่เข้าไป

ถ้าคุณเป็นแม่มดหรือพ่อมดที่กำลังมองหาเครื่องดื่มมึนเมาในเมืองนิวยอร์กปี 1926 แล้วล่ะก็ คุณไม่สามารถเสกมันขึ้นมาได้สักแก้วจริง ๆ หรอกนะ ด้วยเหตุผลแรกสุดก็คือ การป้องกันสภาวการณ์ปกปิดการมีอยู่ของชุมชนผู้วิเศษนั้นสำคัญมากเกินกว่าที่จะเสี่ยงให้มีลูกเล่นงานเลี้ยงแบบนั้นเกิดขึ้น นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังเลือกถ่ายทำเนื้อเรื่องในช่วงยุคต้องห้าม (Prohibition era) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา

พวกร้านเหล้าเถื่อนกลายเป็นร้านที่นิยมกันมากในยุค 1920 ด้วยเหตุผลนั้น พวกร้านเครื่องดื่มใต้ดินที่ซุกซ่อนตัวอยู่นี้เป็นสถานที่ ๆ ผู้คนพากันไปดื่มค็อกเทล พวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจัดว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในช่วงปี 1920 ถึง 1933 ดังนั้นภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์ฯ จึงอยู่ในช่วงกึ่งกลางของยุคสมัยความสุขนิยมลับสุดยอดเข้าอย่างจัง

ร้านเหล้าที่ก่อตั้งมาแบบไม่ธรรมดานี้เรียกว่าร้านเดอะไบลนด์พิก เราจะเห็นทีน่าและควีนนี่่ โกลด์สตีนยืนอยู่ที่ด้านนอกของร้าน แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าของพวกเธอโดยใช้เวทมนตร์

รูปวาดบนกำแพงด้านหลังพวกเธอทำหน้าที่เป็นสิ่งอำพรางทางเข้าสู่ร้านเดอะไบลนด์พิก นักออกแบบกราฟิกประจำภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์ฯ มิราฟอรา มินา และเอดัวโด ลิมา ออกแบบมันให้ออกมาดูคล้ายกับโฆษณาลิปสติก ที่จะมีชีวิตขึ้นมาถ้าคุณแสดงตัวตนว่ามีเวทมนตร์

‘พวกเราออกแบบมันโดยมีรากฐานมาจากโฆษณาเครื่องสำอางในยุคนั้นครับ’ เอดัวโดพูด ‘ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกสี ตัวอักษร หรือความรู้สึกที่มันสื่อถึงก็ตาม’

เมื่อคุณได้เข้าไปข้างในร้านเหล้าเถื่อน คุณจะได้ยืนอยู่ภายในสถานที่ที่เกิดจากจินตนาการของทั้งเจ.เค. โรว์ลิ่ง และนักออกแบบฝ่ายการสร้าง สจ๊วต เคร็ก สจ๊วตใช้สถาปัตยกรรมที่คุ้นเคยบางแห่งมาสร้างสถานที่ประหลาดที่ชื้นแฉะหนาวเย็นนี้ ที่ซึ่งพวกคนที่ไม่เป็นที่ต้องการจากกลุ่มใดหรือแม้กระทั่งพวกอาชญากรจะมารวมตัวกัน

‘มันมีหลักตรรกศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมและโครงสร้างอยู่ในตัวของสถานที่ใต้ดินแบบนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่ลอนดอนหรือสถานีรถไฟใต้ดินที่นิวยอร์กต่างก็ใช้พวกกระเบื้องเคลือบเงา พวกอิฐที่ดูขึ้นเงาเป็นวัสดุที่เหมาะสมมากในการสร้างสถานที่ใต้ดินแบบที่มีหลังคาโค้งอะไรแบบนี้ เพราะว่ามันช่วยไม่ให้น้ำซึมผ่านไปได้’ สจ๊วตบอกฉัน

‘เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ถึงพวกเราจะกำลังจัดการสร้างโลกเวทมนตร์อยู่ พวกเราก็ยังหาอะไรสักอย่างที่จะทำให้ดูน่าเชื่อถือโดยสมบูรณ์และจะต้องดูสมจริงแน่นอนในแบบอย่างที่มันควรเป็น พื้นที่สถานที่นี้เป็นตัวอย่างของสิ่งนั้นครับ มันมีความเป็นไปได้ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและด้านโครงสร้าง ซึ่งสร้างออกมาได้ลงตัวดีในแบบที่เสมือนจริง’

ถ้าอย่างนั้นคุณทำให้สถานที่นี้ปรากฏออกมาได้ยังไง ราวกับว่ามันหลุดออกมาจากโลกที่เวทมนตร์ผสมกลมกลืนไปกับความเป็นจริง

‘คุณต้องมองหาวิธีที่จะทำให้มันเกินจริง เพื่อที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวจริง ๆ’ สจ๊วตพูด ‘ความเกินจริงในกรณีนี้มันเป็นสิ่งโสมมเป็นหลักเลยครับ! น้ำที่ไหลไปตามรอยแตกของปูน คราบเปื้อน รา และไลเคนที่โตไปทุกที่ นั่นล่ะคือส่วนที่สนุกเลยครับ ภาพยนตร์เรื่องยาวนี่เป็นสื่อภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี มันเลยต้องการความเกินจริง และภาพลักษณ์ของร้านเดอะไบลนด์พิกก็เป็นแบบฉบับมากตามขั้นตอนที่ว่านั้น’

เอาล่ะ มันคงจะไม่ใช่ยุครอริ่งทเวนตี้*แน่ ถ้าขาดการเข้าไปแวะเวียนร้านเหล้ายินที่ชื้นแฉะแต่ชวนให้ครึกครื้นอย่างนี้นะ

——————————————————————————–

ยุครอริ่งทเวนตี้* (The Roaring Twenties) เป็นคำที่ใช้พูดถึงช่วงยุคปี 1920 ของพวกชาติตะวันตก ที่วัฒนธรรมและสังคมมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเยอะในด้านต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น ความเฟื่องฟูของดนตรีแจ๊ส ศิลปะแบบอาร์ตเดโค่ การบิน การโฆษณา เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะมาก