ครบรอบหนังสือ “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม”

ครบรอบหนังสือ "แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม"

หนังสือ “Harry Potter and the Half-Blood Prince หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม” เป็นหนังสือภาค 6 ในนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เวียนมาครบรอบวันวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.2005 ด้วยยอดวางจำหน่าย 6.3 ล้านเล่มเฉพาะทางสำนักพิมพ์ Bloomsbury สำนักพิมพ์แห่งแรกที่ตอบรับการตีพิมพ์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ขณะที่ฟากสำนักพิมพ์ Scholastic ของอเมริกามียอดการผลิตเพื่อวางจำหน่ายล็อตแรกที่ 10.8 ล้านเล่ม ภายใน 24 ชั่วโมงแรกของวางจำหน่ายสามารถขายได้ถึง 6.9 ล้านเล่ม (อ้างอิง)

ซึ่งการออกแบบปกให้กับ Harry Potter and the Half-Blood Prince ของทาง Bloomsbury นั้นได้ Jason Cockcroft มาวาดภาพประกอบให้ ขณะที่อเมริกายังคงครองสิทธิ์ภาพปกและภาพประกอบโดย Mary GrandPré เช่นเดิม

นอกจากจะวางจำหน่ายในเวอร์ชั่นปกแข็งสำหรับเด็กแล้ว ทาง Bloomsbury ยังวางจำหน่ายด้วยปกภาพถ่ายสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งถ่ายโดย Michael Wildsmith ออกมาในวันที่ 16 กรกฎาคมเช่นเดียวกัน โดยมียอดการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายแบบปกแข็งที่ 1 ล้านเล่ม (อ้างอิง J.K. Rowling: A Bibliography 1997-2013)

ปกเจ้าชายเลือดผสมฉบับผู้ใหญ่ของ Bloomsbury ถ่ายโดย Michael Wildsmith
ปกเจ้าชายเลือดผสมฉบับผู้ใหญ่ของ Bloomsbury ถ่ายโดย Michael Wildsmith

ทางด้าน Scholastic ก็ปล่อยของเด็ดสำหรับนักสะสมออกมาในรูปแบบ Deluxe edition กับภาพวาดพิเศษจาก Mary GrandPré บรรจุในกล่องสวยงาม วางจำหน่ายพร้อมกันในวันที่ 16 กรกฎาคม 2005 ทั้งหมด 100,000 เล่ม (อ้างอิง J.K. Rowling: A Bibliography 1997-2013)

half-blood-prince-delxue-jacket

ในขณะนั้น กระแสความนิยมในแฮร์รี่ พอตเตอร์ โด่งดังไปทั่วโลก จนมีการแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากถึง 67 ภาษา (อ้างอิง Telegraph)

ก่อนการเปิดเผยชื่อ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ได้ใช้เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเธอในการประกาศชื่อภาคของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 6 ในวันที่ 31 ตุลาคม ปี 2004 มันเริ่มต้นในห้องทำงานของเธอที่เต็มไปด้วยกองกระดาษ และแฟ้มเอกสารหนึ่งแฟ้มที่คุณต้องเอาแว่นขยายจากในลิ้นชักไปส่อง แล้วจะพบปริศนาให้คุณต้องตอบ…

jkrsitecloseup1

มันคือปริศนาคำใบ้ที่ให้ตอบเป็นคำศัพท์ 1 คำ สมัยนั้นโง่ภาษาอังกฤษอย่างหนักหน่วง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากได้คำตอบด้วยตัวเองบ้างก็นั่งเปิดดิกวนไปทีละคำ ทีละคำ สุดท้ายก็ล้มตึงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ยอมแพ้ ไปเปิดเว็บสปอยล์ของฝรั่ง แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะเฉลยเลยก็อาจไม่ได้บรรยากาศ มาลองคิดดูนะครับว่าศัพท์ภาษาอังกฤษ 8 ตัวอักษรนี้คืออะไร

One by one we come to life, (เราอยู่เป็นลำดับ)
Then side-by-side we wait (แล้วเคียงข้างด้วยกันไป)
While our company swells in numbers (พวกเราเป็นตัวเลขที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ)
(Some come early, some come late); (บ้างมาก่อน บ้างมาหลัง)
And some of us may bore you, (บ้างทำให้คุณเบื่อ)
And some of us enthral, (บ้างทำให้ติดใจ)
But you cannot choose between us (แต่คุณเลือกใครเพียงคนเดียวไม่ได้)
You must take us one and all. (คุณต้องเลือกจากหนึ่งและตามด้วยทั้งหมด)
We’ll be bound together tightly (เราต่างผูกพันเหนียวแน่น)
For we’re naught if we break free. (เราจะไร้ค่าถ้าแยกเราออกจากกัน)
If you’d like some clues about us (ถ้าอยากได้ปมบางอย่างจากเรา)
Simply answer: WHO ARE WE?” (ลองตอบดูซิว่า เราคือใคร?)

คำตอบก็คือ “chapters” หรือ บทหลายๆ บทนั่นเองครับ เพราะเป็น we เลยเป็น chapters

เมื่อตอบถูกก็จะพบกับชื่อภาคของแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ 6

jkrsitecloseup2

เมื่อเลื่อนเปิดเอกสารด้านบนแฟ้มนี้ก็จะพบกับ 3 ชื่อของบทในหนังสือเล่มนี้ ประกอบไปด้วย

  • Chapter 2 Spinners End
  • Chapter 6 Draco’s Detour
  • Chapter 14 Felix Felicis

เรียกว่าใครที่เป็นแฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในยุคนั้นต่างก็มีความสุขและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นห้องทำงานของเจ.เค.โรว์ลิ่งเปิดออก แล้วมีคำใบ้ให้เราได้ตื่นตาตื่นใจกัน ถ้ากำลังนึกเสียดายอยู่ล่ะก็ วันนี้แอดมินใช้เครื่องย้อนเวลาพาไปชมบรรยากาศเว็บเก่าเจเคด้วยนะ คลิกเลย!

วันที่หลายคนรอคอยที่สุดในยุคนั้น คือวันที่ เจ.เค.โรว์ลิ่งจะมาอ่านส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มล่าสุดให้แฟนๆ ได้รับฟังกัน ซึ่งเล่ม 6 นี้ เจ.เค.โรว์ลิ่งเลือก “บทที่ 6 เดรโกออกนอกทาง” มาเล่าให้ผู้นักอ่านทุกคนได้ฟัง ณ Edinburgh Castle ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2005 กันครับ

หลังจากหนังสือวางจำหน่ายไปแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจที่สุดในงานเขียนเล่มที่ 6 นี้ ก็คือการเขียนชื่อนักแสดงจากภาพยนตร์ลงไปในหนังสือ โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แน่ชัดว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจของเจเคเอง เพราะศาสตราจารย์ซลักฮอร์นเรียก รอน วีสลีย์ ว่า รูเพิร์ต ซึ่ง รูเพิร์ต คือชื่อจริงของ รูเพิร์ต กรินต์ นักแสดงผู้รับบทรอน วีสลีย์ นั่นเอง!

IMG_20160716_120932

“ให้เอลฟ์ประจำบ้านชิมทุกขวดเลยหลังจากเกิดเหตุกับรูเพิร์ตเพื่อนของเธอ”

-ศ.ซลักฮอร์น (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม บ.22 น.506)

แถมชื่อนี้ก็ปรากฏอยู่ในฉบับภาษาอังกฤษแบบบริติช และอเมริกัน รวมถึงภาษาไทยของเรา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในภายหลังแต่อย่างใด

เจ้าชายเลือดผสมในไทย

แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ซึ่งมี อ.สุมาลี เป็นผู้แปลให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มนี้ โดยใช้ภาพประกอบเช่นเดียวกับอเมริกามาตั้งแต่ต้น

Harry6

โดยกำหนดงานเปิดตัวฉบับภาษาไทยในวันที่ 2-4 ธันวาคม 2005 ภายใต้ชื่องาน Harry Potter Carnival ณ อุทยานเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพ และมีกำหนดเปิดตัวหนังสือและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเวลา 00:00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งคนกลุ่มแรกที่ได้รับหนังสือในงานวันนั้นคือผู้ที่สั่งจองหนังสือกับทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์โดยตรง (อ้างอิง)

สิ่งหนึ่งที่ฉบับภาษาไทยแตกต่างจากภาษาอังกฤษ และทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมหาศาล นั่นคือ การตัดสินใจตัดทิ้งชื่อปริศนา “เพฟเวอเรลล์” ที่กลายมาเป็นนามสกุลสำคัญในเล่มจบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ออกไปจากหนังสือ มีการขอโทษจากทางผู้แปลและชี้จุดตัดชื่อนี้ออกไปในหนังสือ โดยชื่อเพฟเวอเรลล์ ถูกตัดออกไปในหน้า 222 บรรทัดที่ 4 จากล่างเหลือเพียงคำว่า “ตระกูล” เท่านั้น ซึ่งประโยคใจความเดิมควรจะเป็น

“รู้ไหมว่ามีคนขนเงินมาให้ฉันเท่าไรเพื่อแลกกับแหวนวงนี้ ที่มีตราประจำตระกูลเพฟเวอเรลล์สลักไว้บนหินแบบนี้”

ซึ่งผู้อ่านที่มีหนังสือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ หรือฉบับฉลองครบรอบ 15 ปี ความผิดพลาดนี้ได้รับการเพิ่มคืนในเนื้อหาเรียบร้อยแล้วครับ ^ ^ เรียกว่า เจ.เค.โรว์ลิ่งทิ้งปริศนา 1 คำไว้แบบเงียบๆ จริงๆ