ในวันที่ 7 มิถุนายน (วันพรุ่งนี้) Harry Potter and the Cursed Child จะเปิดแสดงรอบพรีวิวเป็นวันแรกแล้ว!
และนี่คือเนื้อหาในโค้งสุดท้ายที่ทีมผู้จัดและนักแสดงละครเวที Harry Potter and the Cursed Child ทั้งสองตอนได้เปิดเผยเบื้องหลังการทำงานของพวกเขาในการนำเรื่องราวตอนที่ 8 ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาเล่าในรูปแบบละครเวที ณ โรงละคร Palace Theater กรุงลอนดอน พร้อมทั้งบอกให้ทราบว่าเหตุใดการนำเสนอในรูปแบบของละครเวทีจึงเหมาะสมที่สุด สำหรับเรื่องราวในตอนนี้ แทนที่จะเป็นภาพยนตร์หรือหนังสือ
J.K. Rowling (โจแอนน์) ไม่ใช่ผู้ที่ริเริ่มไอเดียในการนำเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาแสดงเป็นละครเวที หากแต่เป็นสองผู้จัดละครเวที Sonia Friedman และ Colin Callender ผู้จุดประกายให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นและนำไปเสนอ J.K. Rowling เมื่อสี่ปีก่อน โดยเหมือนเป็นการเชื้อเชิญกลาย ๆ ให้โจสานต่อเรื่องราวของแฮร์รี่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเนื้อหาของ Harry Potter and the Cursed Child ตอนแรกจะเล่าเรื่องต่อจากบทส่งท้าย “สิบเก้าปีต่อมา” ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต แทบจะในทันที และนี่คือบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ John Tiffany เกี่ยวกับฉากเปิดเรื่องที่ทุกคนรอคอย
John Tiffany (ผู้กำกับ): เรามีเมล็ดพันธุ์ดี ๆ อยู่ที่นี่ เราจะเปิดเรื่องที่ฉากสถานีรถไฟครับ … นี่ผมได้รับอนุญาตให้เปิดเผยหรือเปล่า? แต่ช่างมันเถอะ อย่างไรก็ตามมันชัดเจนที่เธอ (โจ) อนุญาตให้เราใช้ตัวละครของเธอและเล่าเรื่องตามแบบของเรา
ทำไมต้องนำเสนอในรูปแบบละครเวที? เป็นไอเดียของ J.K. Rowling หรือเปล่า?
Sonia Friedman (ผู้จัดละครเวที): จริง ๆ แล้วเป็นไอเดียของฉันกับคอลินค่ะ เรารู้ว่าตอนนั้นมีคนมากมายเข้าไปเสนอนั่นนี่กับเธอแต่เธอก็ปฏิเสธไปทุกคน เพราะข้อเสนอเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพวกละครเพลงหรือการแสดงโชว์ต่าง ๆ แต่สิ่งที่เราเสนอคือการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย เราไม่อยากเอาหนังสือมาดัดแปลง แต่เราอยากสำรวจว่าคนที่โตขึ้นมาโดยปราศจากพ่อแม่จะดูแลลูก ๆ ของเขาอย่างไรเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว
Colin Callender (ผู้จัดละครเวที): เราไปที่เอดินเบอระเมื่อสี่ปีก่อนและได้คุยกันในห้องประชุมอยู่พักใหญ่ ๆ เกี่ยวกับความเป็นพ่อและการเลี้ยงดูลูก ๆ เราบอกเธอว่าเราสัมผัสได้ว่าเธอสร้างโลกของเธอขึ้นมาอย่างมีมิติล้ำลึก และมีประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับตัวละครที่เธอยังไม่เคยเปิดเผย จากนั้นมาเราก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับอีก จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีโทรศัพท์ถึงเราว่า “ลุยขั้นต่อไปกันเถอะ” เธอบอกอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเธอไม่ใช่นักเขียนบทละคร และจะไม่เขียนมัน และเธอจะยอมให้เรื่องนี้ไปต่อก็ต่อเมื่อเราหานักเขียนบทละครที่เธอยอมรับได้เท่านั้น
เราทราบว่าคุณเขียนบทเรื่องนี้โดยมี J.K. Rowling เป็นที่ปรึกษา คุณผสมผสานแนวคิดของนักเขียนสามคนเข้าด้วยกันได้ยังไง?
John Tiffany: โจ โรว์ลิ่ง เป็นผู้หญิงที่ใจกว้างมาก ๆ ผมเป็นคนแรกที่ได้พบเธอ และเหมือนจะจำได้ว่าเคยพบเธอมาแล้วเพราะเธอเคยไปนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่คาเฟ่แห่งหนึ่งใกล้กับโรงละคร Traverse Theater ในเอดินเบอระ ซึ่งตอนนั้นผมก็ทำงานเป็นผู้กำกับละครเวทีอยู่ที่นั่น ซึ่งพอหนังสือเล่มแรกวางแผงผมก็จำได้ว่าเป็นเธอนั่นเองที่ใช้เวลาสี่ชั่วโมง เขียนหนังสืออยู่อย่างนั้นพร้อมกับมีคาปูชิโน่หนึ่งแก้วอยู่ข้างตัว ในวันแรกที่เราพบกันเพื่อคุยเกี่ยวกับละครเวที เธอถามผมว่า “คุณคิดว่าเรื่องของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร” ผมตอบว่า “มันคือการเรียนรู้ที่จะรับมือกับความตายและการทนทุกข์” แล้วผมก็เห็นบางอย่างในดวงตาของเธอ – ผมคิดว่าเพราะเราไม่ได้พูดถึงการแปลงร่าง หรือเวทมนตร์ หรือการขี่ไม้กวาดบิน และนั่นบ่งบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว
Jack Thorne (ผู้เขียนบท): หลังจากนั้นเราก็พบกันอย่างต่อเนื่องในเอดินเบอระ และเราก็ค้นพบว่าบทส่งท้ายของ “เครื่องรางยมทูต” คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
คุณได้เขียนโครงเรื่องตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกันเลยหรือเปล่า?
Thorne: ใช่ครับ แต่จริง ๆ แล้วต้องใช้เวลาถึงหกเดือนกว่าจะทำทุกอย่างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ แต่ละก้าวของเรานั้นสำคัญมาก มีทั้งก้าวไปข้างหน้าและก้าวถอยหลังโดยมีโจบอกว่า “ใช่เลย” หรือไม่ก็ “ไม่เอา ไม่ใช่อย่างนั้น”
Tiffany: มีบางช่วงบางตอนที่เมื่อเราคิดขึ้นมาเราก็คาดการณ์ไว้ว่าโจคงไม่ยอมให้เป็น แบบนั้นแน่ ๆ แต่เธอก็ไม่ลังเลเลย เธอให้พวกเราดำเนินเรื่องหรือไม่ก็คลายปมบางอย่างด้วยตัวของพวกเราเอง
แนวคิดที่จะแบ่งเป็นสองตอนนั้นมีมาตั้งแต่ต้นเลยไหม?
Tiffany: ไม่เลยครับ แต่เรารู้ดีว่าเราต้องสานต่อเรื่องราวจากในหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับไปมองหาเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้นด้วย เราอยากให้ตัวละครซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่แล้วมีพัฒนาการซึ่งยังคงความเป็นตัว ของตัวเอง แต่ก็นำไปสู่การค้นพบตัวตนในมุมมองใหม่ ๆ ด้วย เป็นเรื่องโหดหินที่ต้องยัดเรื่องราวอันยิ่งใหญ่นี้ให้จำกัดอยู่ในเวลาแค่ สองชั่วโมงครึ่ง แต่แล้ววันหนึ่งก็มีคนเสนอขึ้นมาในที่ประชุมว่า “ทำไมไม่แบ่งเป็นสองตอนล่ะ?” แล้วตั้งแต่นั้นมาเราก็รู้ดีว่าควรจบตอนแรกที่ตรงไหน เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อเลยทีเดียว
Noma Dumezweni (เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์): ในหนังสือก็มักจะเลือกแบ่งตอนแบบนั้น มันทำให้คุณกระหายที่จะติดตามตอนต่อไป
การเล่าเรื่องในรูปแบบละครเวทีแตกต่างจากการเล่าผ่านตัวหนังสืออย่างไร?
Thorne: สำหรับละครเวที เราสามารถเล่าเรื่องของตัวละครรุ่นเด็กและรุ่นผู้ใหญ่ได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือทำไม่ได้ มีองค์ประกอบที่น่าตื่นเต้นหลายอย่างที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทั้งสองมุมมองนี้ดำเนินไปอย่างลงตัว นี่คือเรื่องราวของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เหมาะกับทั้งผู้ชมวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก John กับผมอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแฮร์รี่ในเรื่องนี้เลย ผมเพิ่งมีลูกคนแรก ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยประเด็นเกี่ยวกับการเติบใหญ่ และการเป็นพ่อแม่คน
Tiffany: คำถามคือ คุณจะทำตัวเป็นพ่อแม่ให้ลูก ๆ ได้อย่างไร ในเมื่อคุณเองยังต้องทำตัวเป็นพ่อแม่ให้กับตัวเองอยู่เลย?
Dumezweni: ฉันคิดว่าความแตกต่างอย่างหนึ่งคือ คุณไม่สามารถเดินทางไปกับเรื่องที่เกิดขึ้นในรูปแบบละครเวทีด้วยวิธีที่เหมือนอย่างที่คุณทำกับหนังสือได้ การรับชมในรูปแบบละครเวทีเป็นประสบการณ์แบบมวลชน และการที่เรื่องนี้แบ่งเป็นสองตอนก็เท่ากับว่าคุณต้องติดตามมันอย่างอุทิศตัว ยอมรับว่าฉันตื่นเต้นมากว่าลูกสาวฉันจะคิดยังไงหลังจากใช้เวลาทั้งวันอยู่ในโรงละคร ในฐานะนักแสดง นี่คือประสบการณ์ชีวิตที่ฉันยังไม่เคยพบพานมาก่อน
คุณจัดการเรื่องเทคนิคในฉากใช้เวทมนตร์ในโรงละครได้อย่างไร ในเมื่อคุณไม่สามารถใส่เอฟเฟกต์พิเศษได้เหมือนอย่างที่เขาทำกับภาพยนตร์?
Tiffany: ในภาพยนตร์เขามี green screen แต่ในโรงละคร เรามีจินตนาการของผู้ชม
Jamie กับ Noma คุณรู้สึกยังไงที่ต้องรับบทตัวละครที่มีแฟน ๆ จำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของตัวละครเหล่านั้น คุณรู้สึกกลัวมากไหม?
Dumezweni: ฉันว่าคนที่กลัวสุด ๆ คือ Jamie
Jamie Parker (แฮร์รี่ พอตเตอร์): จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะรับบทอะไรมันไม่ต่างกันหรอกครับ คุณต้องแบกความรับผิดชอบในการเปิดทุกความรู้สึกและเก็บเกี่ยวทุกสิ่งที่เกี่ยวพันกับเรื่องราว ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องแสดงออกมาให้ดีที่สุดโดยที่ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับมัน
Dumezweni: การแบกรับความคาดหวังเป็นอะไรที่หนักมาก แต่สำหรับฉัน ภาระนี้เบาลงด้วยข้อความจากแม่ฉันที่บอกให้รู้ว่ามันมีความหมายต่อเด็กผู้หญิงผิวสีมากมายแค่ไหน ที่คนอย่างฉันได้รับบทเฮอร์ไมโอนี่ ที่สุดแล้วมันคือส่วนหนึ่งของการเล่นละครเวที และฉันก็เป็นนักแสดงละครเวทีที่จะทำอย่างสุดความสามารถที่ฉันมี
Callender: แม้เราจะคร่ำหวอดในวงการละครเวทีมานาน แต่เราไม่เคยพบกับความคาดหวังจากผู้ชมที่มากมายขนาดนี้มาก่อน
มันยากไหมที่ต้องทำทุกอย่างภายใต้การรักษาความลับอย่างยิ่งยวด แล้วจะเป็นยังไงถ้าการแสดงเริ่มไปแล้วและคนเริ่มพูดถึงมันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก?
Callender: ประเด็นนี้ ถ้าคุณดูสิ่งที่เกิดขึ้นตอน สตาร์ วอร์ส ฉาย คุณจะใจชื้นขึ้นมาก คนที่ได้ดูแล้วแทบจะไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องทางสื่อออนไลน์ แฟน ๆ ยุคนี้ปกป้องกันและกัน
Tiffany: ความกดดันนี้จะเบาลงเมื่อเสียงตอบรับถูกเผยแพร่ออกไปหลังเปิดแสดงสาธารณะรอบแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม พอถึงตอนนั้นแล้วเราก็ไม่ต้องเก็บความลับอะไรไว้อีกต่อไป แต่คุณเลือกได้ที่จะไม่อ่านบทวิจารณ์เหล่านั้น เราพยายามเขียนบทให้คุณมาดูได้รู้เรื่องโดยไม่ต้องอ่านอะไรมาก่อนเลยด้วย
Parker: และเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยเปิดเผยอะไรมากแล้ว เพราะทุกคนทราบดีว่าบ่อยครั้ง การรับรู้อะไรมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี
Dumezweni: ฉันชอบการรักษาความลับนะ แม้จะสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านก็ตาม ลูกสาวฉันชอบมาเดาอะไรให้ฟังอยู่เรื่อย แล้วบอกว่า “แม่ต้องยิ้มนะคะถ้าหนูเดาถูก”
Tiffany: แม่ผมนี่ล่ะตัวดีเลย คนอื่น ๆ ไม่อะไรนะ แต่แม่ผมมักจะถามคำถามน่าหวาดเสียวเสมอ ผมเองมารู้ทีหลังว่าแม่โดนคนอื่นที่เจอตอนไปจ่ายตลาดถามมาอีกทีหนึ่ง
Parker: เวลามีใครถาม ผมจะชักไม้กายสิทธิ์ออกมาแล้วตอบไปว่า “ผมเป็นพ่อมดนะ!”